วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การบูรณาการศิลปวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนรายวิชา การผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอน

     การนำระบบประกันคุณภาพมาใช้ในวงการศึกษาปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้สอนในระดับอุดมศึกษามีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การบูรณาการเนื้อหาด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษา จึงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาการบูรณาการดังกล่าวในรายวิชา 4112353 การผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นรายวิชาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย (หลักสูตร ปี พ.ศ. 2551) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ที่ผ่าน โดยผู้สอนจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานในระบบชั้นเรียนปกติร่วมกับชั้นเรียนอีเลิร์นนิ่ง  จัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกับเนื้อหาด้านศิลปวัฒนธรรมโดยการมอบหมายงาน (Assignment) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง


    วัตถุประสงค์ของกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสืบค้น เรียบเรียงข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Resources) ในอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก จากนั้นนำข้อมูลและสารสนเทศที่ได้ (ข้อความ ภาพนิ่ง วีดิทัศน์) เรียบเรียงเขียนเป็นเรื่องราวตามประเด็นหัวข้อที่กำหนดไว้ เผยแพร่ในเว็บไซต์  http://web.yru.ac.th/science/culture  ซึ่งผู้สอนติดตั้งระบบจัดการเนื้อหาแบบวิกิเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ไว้เป็นฐานความรู้ด้วยซอฟต์แวร์ Mediawiki  (www.mediawiki.org) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เปิด (Open Source) นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ในองค์กร
  โดยก่อนที่จะให้ผู้เรียนทำกิจกรรมนี้ ผู้สอนได้แจ้งวัตถุประสงค์ จัดอบรมทักษะการใช้งานเว็บไซต์ ภาษาวิกิและขั้นตอนการสร้างเนื้อหาในเว็บไซต์ที่บริหารจัดการด้วย Mediawiki ให้แก่ผู้เรียน จำนวน 3 ชั่วโมง จากนั้นให้เวลาผู้เรียน 2 สัปดาห์ ในการสืบค้น ค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลศิลปวัฒนธรรมฯ ทำการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ คนละ 3 รายการ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส จังหวัดละ 1 รายการ)  เมื่อเรียนจบรายวิชา ผู้สอนดำเนินการสอบถามความสำเร็จการบูรณาการฯ ในด้านความรู้และเจตคติที่ได้จากกิจกรรมนี้โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ที่สร้างในระบบอีเลิร์นนิ่ง   โดยสรุปเบื้องต้น พบว่าผู้เรียนในรายวิชานี้ จำนวน 28 คน มีความรู้สึกพึงพอใจในกิจกรรมนี้ เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเองเพิ่มขึ้น  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมฯ ท้องถิ่นของตนเองเพิ่มขึ้น  ที่สำคัญคือ ผู้เรียนได้ใช้ทักษะในการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ ประยุกต์ใช้เป็นฐานและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมฯ ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้สอนจะได้ส่งมอบฐานข้อมูลที่ได้ให้แก่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรต่อไป
      สำหรับรายงานผลการบูรณาการฯ ฉบับสมบูรณ์จะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น: