วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2565

การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning: BL) หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

 ในระยะเวลา 2-3 ปีการศึกษาที่ผ่านมา ปีการศึกษา 2562-2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส COVID-19 ทำให้การจัดการเรียนการสอนของ #มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำหนดให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยกำหนดให้อาจารย์ทุกท่านทุกรายวิชาจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบหลัก (Platform) ด้วยระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย ที่เว็บไซต์ https://e-learning.yru.ac.th  และใช้เครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์อื่น ๆ ประกอบ เช่น ระบบจัดประชุมออนไลน์ Google Meet, Zoom, Microsoft Team รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ และซอฟต์แวร์หรือแอพลิเคชั่นอื่น ๆ สนับสนุน ทั้งนี้ มีการจัดอบรมปฏิบัติการให้แก่ทั้งนักศึกษาใหม่ และอาจารย์ผ่านทางออนไลน์

    นับเป็นความโชคดีที่ #มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนโยบายจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานระบบอีเลิร์นนิ่งและชั้นเรียนปกติมาก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 จึงนับว่าวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้อีเลิร์นนิ่งให้มีรูปแบบและการประเมินผลการสอนที่ชัดเจนขึ้น โดยมหาวิทยาลัยกำหนดองค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลปฏิบัติราชการประจำปีของอาจารย์ โดยกำหนดน้ำหนักคะแนนไว้ 25% 

   สำหรับในปีการศึกษา 2565 ซึ่งสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย มหาวิทยาลัยเปิดและจัดการเรียนการสอน ณ สถานที่ตั้ง (On-site) แต่ยังคงมีนโยบายให้อาจารย์ผู้สอน สามารถจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างออนไลน์ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง และระบบออฟไลน์ในชั้นเรียนปกติ โดยกำหนดไว้ใน มคอ.3 ให้ชัดเจน และประเมินผลการปฏิบัติการสอนแบบผสมผสาน 

    ดังตัวอย่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา 4114311 การจัดการคุณภาพสารสนเทศ (Information Quality Management) ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งเป็นหลัก ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) เพื่อบ่มเพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะทำงานเป็นทีม การศึกษาค้นคว้า คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่ซ้บซ้อน ทักษะการสื่อสารและการนำเสนอ ผู้สอนมีบทบาทให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง การประเมินผลเน้นประเมินผลงานและพฤติกรรม (สมรรถนะ) ของผู้เรียน 


      สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) กำหนดเป็นข้อตกลงกับนักศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นในชั้นเรียน และมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนหรือขั้นตอนการศึกษาโครงงาน ให้นักศึกษาได้ศึกษาล่วงหน้า ผู้สอนจัดเตรียมทรัพยากรการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้สนับสนุนการทำโครงงานให้แก่นักศึกษา ดังตัวอย่าง