วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การออกแบบการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน: สถานการณ์จริงของชีวิต

บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุขนอกชั้นเรียนปกติ
https://plus.google.com/u/0/communities/107503200208618731454 
     การจัดการเรียนรู้สมัยใหม่และในอนาคตมีหลากหลายรูปแบบ วิธีและรูปแบบปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตามบริบทและสภาพการณ์ภายนอก ซึ่งเป็นวิถีชีวิต วิถีการทำงานหรือประกอบอาชีพ จึงทำให้วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนไป  อย่างไรก็ตาม ครู อาจารย์ส่วนใหญ่ของไทย ก็ยังคงยึดกรอบการออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ จะต้องมีห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีกระดานดำหรือไวท์บอร์ด ดีหน่อยก็มีอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โปรเจคเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ในห้องจัดโต๊ะและเก้าอี้เรียงเป็นแถว รอบ ๆ ห้องเรียนมีป้ายนิเทศหรืบอร์ดนิทรรศการ (ซึ่งไม่ค่อยได้เปลี่ยนเนื้อหา)
   กระบวนการจัดการเรียนการสอน ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการออกแบบสถานการณ์การเรียนรู้ (Learning Process Design:LPD)  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้ (Learning Outcome) ไม่ควรเน้นแต่การถ่ายทอดเนื้อหา (Content) ให้ครบถ้วน เพื่อจะทำให้สามารถสอบวัดประเมินผลให้ครบสาระการเรียนรู้ ซึ่งก็คงไม่ผิด เพียงแต่ว่าอาจเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในอนาคตได้น้อย โดยเฉพาะ "ทักษะการเรียนรู้" สำหรับชีวิตจริงในอนาคต

ตัวอย่างงานมอบหมาย (Assignment) ในระบบอีเลิร์นนิ่ง
     ดังนั้น บทบาทสำคัญจึงอยู่ที่ครูผู้สอนที่จะต้องปรับเปลี่ยนกรอบคิด (Mindset) เข้าใจบทบาทของผู้จัดการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยี  ซึ่งเน้นเป็นผู้แนะนำหรือให้คำปรึกษาการเรียนรู้เป็นสำคัญ  ครูจะปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างไร เพราะครูคือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ คือ กรอบคิดของครูหรือผู้สอนในการออกแบบจัดการเรียนรู้เพื่ออนาคตของผู้เรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพื่อการประเมินผล ให้ได้คะแนนผู้เรียนสำหรับการวัดระดับผลการเรียนในรายวิชาเท่านั้น

รายละเอียดงานมอบหมาย (Assignment) 


    ในรายวิชา การจัดการสารสนเทศเพื่อการศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบันฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ได้ทดลองออกแบบจัดการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าในสถานการณ์ สภาวการณ์การศึกษาของชาติ  มีโอกาสศึกษาข้อมูลและสารสนเทศที่สำคัญด้านการศึกษาจากฐานข้อมูลการศึกษาแห่งชาติ (http://www.mis.moe.go.th/mis2018)  ออกแบบเป็นกิจกรรมมอบหมายงาน (Assignment Activity) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearning.yru.ac.th) แบ่งกลุ่มหรือทีมศึกษาข้อมูล ทีมละ 4-5 คน  ทำกิจกรรมของกลุ่มนอกห้องเรียน โดยใช้ห้องศึกษาค้นคว้าอิสระที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ (ห้องสมุด) จัดให้ มีความพร้อมและสะดวกสบาย ร่วมกันศึกษาข้อมูล เลือกประเด็นที่กลุ่มสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลและสารสนเทศการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) วิเคราะห์  สังเคราะห์  และจัดทำสื่อนำเสนอร่วมกันผ่าน Google Application ได้แก่ สไลด์ (Google Slide) นำเสนอ  แชร์สไลด์นำเสนอในชุมชนการเรียนรู้ในรายวิชาที่จัดการด้วย Google+ และบันทึกผลการเรียนรู้ครั้งนี้ใน Web Blog ของตนเอง  โดยให้นำเสนอในห้องเรียน Smart Classroom เพื่อบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้เผยแพร่ต่อไป
ตัวอย่างการแชร์กิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนรายวิชาผ่าน Google+
   สำหรับเป้าหมายจากการเรียนรู้ (Leaning Goal) ในกิจกรรมนี้ คือ การฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม โดยใช้ Cloud Technolog  ฝึกทักษะการสืบค้น  การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ สังเคราะห์  การนำเสนอ รวมทั้งทักษะการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของนักศึกษาและบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อสำเร็จเป็นบัณฑิต จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษาทางราชการ ซึ่งหากมีปัญหาในการใช้ภาษาไทย ทั้งทักษะการอ่าน การพูด การเขียน ก็อาจจะทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันการสมัครเข้าทำงาน ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน  ส่วนการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เน้นเตรียมทักษะสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต ที่ต้องมีความคล่องในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเรียนรู้ได้ ปรับตัวได้ตลอดเวลา ที่สำคัญในอนาคต ทุกอาชีพจำเป็นต้องใช้ข้อมูลและสารสนเทศ เราจึงต้องการบัณฑิตที่มีทักษะพื้นฐานในการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ สามารถค้นหา รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้  เป็นผู้สร้างมูลค่าได้จากข้อมูลและสารสนเทศจำนวนมากในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้สารสนเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
   นอกจากนั้น กระบวนการจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ ยังเป็นแนวทางให้ผู้เรียน นำไปใช้ในวิชาชีพครูได้ในอนาคตอีกด้วย

ตัวอย่างการบันทึกผลการเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อกส่วนบุคคลของนักศึกษา

ตัวอย่างการบันทึกผลการเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อกส่วนบุคคลของนักศึกษา และผู้สอน (ที่ปรึกษา) ให้ข้อคิดเห็น