วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ประยุกต์ใช้อีเลิร์นนิ่งและซอฟต์แวร์ประยุกต์บนคลาวน์สอนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์


 ตัวอย่างการปรับการสอนแบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom)  รายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหา องค์ความรู้ที่จะสอนในชั้นเรียนมาก่อนเข้าชั้นเรียน โดยที่ผู้สอนเตรียมเนื้อหาและแหล่งเรียนนำเสนอผ่านรายวิชาในระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearninng.yru.ac.th/elearning) และผู้เรียนสามารถสืบค้นเนื้อหาสาระเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ตได้  ซึ่งวันนี้ (8 ตุลาคม 2558) เนื้อหาที่สอน บทที่ 3 ระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ เนื้อหาเรื่อง "การพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ" และ "องค์ประกอบการเรียนการสอนผ่านเว็บ"
     สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้วันนี้ คือ งานมอบหมาย (Assignment) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งมีรายละเอียดของงานมอบหมาย ได้แก่ คำชี้แจง ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การส่งงาน และเกณฑ์การให้คะแนน (การตรวจให้คะแนนและข้อเสนอแนะ บันทึกในระบบอีเลิร์นนิ่ง) ดังนี้
คำชี้แจง
ให้นักศึกษาเนื้อหาและสาระสำคัญจากเอกสาร หรือจากการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมให้ในรายวิชา เกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาการสอนผ่านเว็บ หรือวงจรการพัฒนาการสอนผ่านเว็บ หลังจากนั้น ให้นักศึกษาปฏิบัติ ดังนี้
  1. สังเคราะห์ (สรุป) ขั้นตอนของการออกแบบและพัฒนาการสอนผ่านเว็บ โดยออกแบบให้เป็น ผังงาน (Flowchart) หรือแผนภูมิ (Chart) พร้อมมีคำอธิบายโดยสังเขป ตามความเข้าใจของนักศึกษา โดยการวาดเป็นแผนภูมิ โดยใช้ซอฟต์แวร์  Cacoo (ติดตั้งบนคลาวน์ ด้วย Google Apps on Chrome)  โดยอาจดูตัวอย่างการวาดแผนภูมิที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างแผนภูมิ ที่ค้นหาให้เป็นแนวทาง
  2. ให้นักศึกษาวาด แผนภาพความคิด (Mind Map) ด้วยซอฟต์แวร์ Cacoo ถึง "องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ" ตามความเข้าใจของนักศึกษาเอง 

การส่งงา
1) ให้นักศึกษาส่งงาน โดยการ แชร์ลิงก์ของเอกสารทั้ง 2 ข้อ เพื่อให้ผู้สอนสามารถตรวจงานได้ ผ่านช่องคำตอบในระบบอีเลิร์นนิ่งในงานมอบหมายนี้
2) เขียนสรุปเนื้อหาโดยย่อ และแผนภาพ MindMap นำเสนอไว้ในเว็บบล็อกของตนเอง และให้ส่งลิงก์เผยแพร่จากเว็บบล็อกตนเองแชร์ใน Google+ กลุ่มของรายวิชา
คะแนน (10 คะแนน)
  1. ส่งงานตรงเวลา (ภายในคาบเรียน 08.00-12.00 น.)
  2. ความสอดคล้องของเนื้อหาที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ 
  3. การวาดแผนภูมิ หรือ Mind Map ที่เหมาะสม
ผลการจัดการเรียนรู้ 

    จากการสังเกตของผู้สอน นักศึกษาทุกคนมีความรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นกับการได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ Cacoo ซึ่งเป็น Chrome App ทำงานบนเทคโนโลยีคลาวน์ (Could Computing) มีความตั้งใจและจริงจังในการสร้างผลงาน สามารถศึกษาและเรียนรู้การสร้างแผนผังความคิดและแผนภูมิจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์เนื้อหาสาระที่ผู้สอนกำหนดให้ รวมทั้งจากการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยใช้ซอฟต์แวร์ Cacoo สร้างผังความคิดและแผนภูมิได้ทุกคน รวมทั้งสามารถแชร์เอกสารผลงานที่ทำได้เผยแพร่ในเว็บบล็อกของผู้เรียนเอง และ แชร์ในชุมชนรายวิชาใน Google+  (ทำงานเสร็จในชั่วโมง 22 คน จากทั้งหมด 36 คน คิดเป็นร้อยละประมาณ 61.11 และที่สำคัญนักศึกษามีกิจกรรมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งห้องเรียน มีความสุขกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้มากกว่าการฟังผู้สอนบรรยายให้ความรู้ (การสอนแบบบรรยาย ตามหลักของ Learning Pyramid ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น) ซึ่งนับเป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ระหว่างห้องเรียนปกติ ชั้นเรียนอีเลิร์นนิ่ง และการใช้ไอซีที โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ Google+, Weblog (www.blogger.com) และเทคโนโลยีคลาวน์ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Services: SaaS) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ "ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี" อีกรูปแบบหนึ่ง และเน้นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากถึงร้อยละ 75 ตามหลักของ Learning Pyramid และสนับสนุนแนวคิด Teach Less Learn more ของ ศ.นพ.วิจารณ์พานิช ที่นำเสนอไว้ในหนังสือ "การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21" เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักงานส่งเสริมสังคมการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คือ สอนน้อยแต่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้มากนั่นเอง