วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

การเรียนรู้จากผลงานวิจัย: การออกแบบกิจกรรมนำเสนอผลการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีทัศน์สร้าง Active Learner


ทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 นับเป็นทักษะสำคัญของผู้สอนในยุคนี้ ที่จะต้องเน้นทักษะการออกแบบสถานการณ์การเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับชีวิตจริง เนื่องจากผู้เรียนโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี เป็นผู้เรียนในยุค "Gen Y"  [อ่านเพิ่มเติม ...] ที่มีบุคลิก ลักษณะนิสัย วิธีการเรียนรู้ที่เขาเกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การสื่อสารข้อมูล  ต่างจากในยุคอดีตที่ผู้สอนส่วนใหญ่อาจเกิดในยุค "Gen X" หรือก่อนหน้านั้น "Baby Boomer" และหากผู้สอนยังไม่ปรับตัว ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสอน ยังหลงอยู่ในยุค Gen X อีก ก็อาจจะไม่สามารถสอนนักศึกษาในยุคปัจจุบันได้ หรือสอนได้แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การการเรียนรู้ (ห้องเรียน) ได้ อาจจะเป็นการกักขังผู้เรียนให้อยู่ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม (Traditional Classroom) ที่น่าเบื่อ มีผู้สอนเป็นผู้ควบคุม เป็นศูนย์กลางการสอน แต่ไม่ใช้การเรียนรู้
   การจัดการเรีียนรู้ในระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ซึ่งบัณฑิตสาขานี้ จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูพันธุ์ใหม่ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือออกแบบการเรียนรู้ มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเรียนรู้ สถานการณ์การเรียนรู้ที่ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือ เข้าใจนักเรียนในยุค Gen Y สามารถประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าของไอซีที ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างนักเรียนพันธุ์ใหม่ ที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์มากกว่าการเป็นผู้ใช้อย่างเดียว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคนในการนำพาประเทศไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" ตามวิสัยทัศน์ชาติ "มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม เพื่อการพึงพาตนเองได้ในอนาคต
   จากประสบการณ์การสอนรายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction) ในการสอนเนื้อหาตามคำอธิบายรายวิชาในประเด็น "ศึกษาเอกสารผลงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบทเรียนผ่านเว็บ" ผู้สอนกำหนดเป็นงานมอบหมาย (Assignment) ในระบบอีเลิร์นนิ่ง โดยการแบ่งนักศึกษาทำงานเป็นทีม (เน้นสร้างทักษะการทำงานเป็นทีม การสร้างสรรค์ผลงาน การคิดวิเคราะห์ในการวางแผนร่วมกัน) โดยกำหนดให้แต่ละทีม ศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูล Thailis (http://www.thailis.or.th/tdc) โดยศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์สาระสำคัญของงานวิจัย ออกแบบการนำเสนอ (presentation) โดยใช้คลิปวิดีโอเผยแพร่ใน Youtube โดยใช้ความรู้และทักษะจากรายวิชาที่ผ่านมา จากนั้นให้แต่ละทีมนำเสนอและแชร์ผ่านชุมชนรายวิชาใน Google+ โดยกระบวนการเรียนรู้ในหัวข้อนี้ เน้นการเรียนรู้นอกคาบ เรียน ใช้สถานที่นอกห้องเรียน เช่น ห้องกิจกรรมเสริมการเรียนรู้กลุ่ม ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการฯ จัดให้บริการ หลังจากนั้น ให้ผู้เรียนทุกคนสรุปผลการเรียนรู้ของตนเองและทีมในกิจกรรมนี้ เผยแพร่ในเว็บบล็อกของตนเอง (กิจกรรมหนึ่งในรายวิชา)


    ผลการจัดการเรียนรู้ พบว่า แต่ละทีมสามารถสร้างผลงานนำเสนอได้เสร็จทันตามกำหนดเวลา และสร้างความตื่นเต้น สนุกสนานในการเรียนรู้ ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม รวมถึงทำให้ผู้สอนเอง มีเวลาในการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล จากการแสดงพฤติกรรมของผู้เรียนผ่านการบันทึกวิดีโอคลิป นักศึกษาสามารถนำทักษะและเทคนิคการจัดการเรียนรู้ ไปปรับประยุกต์ใช้เมื่อออกไปประกอบวิชาชีพครูในอนาคต
    ตัวอย่างผลงานของนักศึกษาแต่ละทีม ซึ่่งผู้สอนมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงของแต่ละทีม หรือแต่ละบุคคลผ่านชุมชนการเรียนรู้ Google+


วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม: กิจกรรมนอกห้องเรียนแบบเดิม เน้นกิจกรรมการเรียนรู้นอกกรอบ

การจัดการเรียนรู้ในรายวิชา WBI ผู้สอนออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรายวิชา จัดสถานการณ์การเรียนรู้ในสภาพชีวิตจริง (ทำงาน) โดยจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง ร่วมกับการใช้เครื่องมือจัดการเรียนรู้ใน Google App for Education และเน้นกิจกรรมเป็น Team-based Learning: TBL ให้อิสระผู้เรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่มด้วยทักษะการสร้างทีม เน้นการส่งเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์ และนำเสนอ สามารถทำกิจกรรมการเรียนรู้ ณ สถานที่ใดๆ ก็ได้ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ผู้เรียนทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกในทีมได้มีโอกาสลงมือทำ ร่วมกันรับผิดชอบในการทำกิจกรรมของทีม สร้างชิ้นงานได้ ไม่เบื่อหน่ายกับสภาพห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบดั้งเดิมที่เคยเรียนมา โดยมีผู้สอนเป็นผู้ควบคุมชั้นเรียน ผู้เรียนเป็นผู้ตาม (หลับ)



     ยิ่งกว่านั้น กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ยังส่งเสริมให้เกิด Active Learning เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสนำเสนอด้วยวาจาทุกคน ฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาไทย  (ผู้สอนทำหน้าที่เป็น Commentator) และเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนรู้แต่ละครั้ง ผู้เรียนทุกคนต้องสรุปผลการเรียนในเว็บบล็อก (เขียน) ของแต่ละคน เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการประเมินผลแบบสภาพจริง ที่เน้นการประเมินผลงานหรือชิ้นงาน (ทักษะ) มากกว่าการประเมินความรู้ ความจำ (ทดสอบ) ทำให้สามารถส่งเสริมบัณฑิตให้เกิดทักษะปฏิบัติจากการลงมือทำจริง ทักษะการเขียน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างอัตลักษณ์นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา (ค.บ. 5 ปี) คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้โดดเด่นตามวิสัยทัศน์ของหลักสูตรได้ "เก่งศาสตร์ เก่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเน้นประยุกต์ใช้ไอซีทีเป็นฐาน" (http://science.yru.ac.th/computer)