วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การสอนด้วยการลงมือปฏิบัติและบูรณาการความรู้ ทักษะกับการทำงานจริง นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะบา

กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาการสอนผ่านเว็บหรือเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา (http://sciencey.yru.ac.th/computer)  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th)  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 วันนี้รายวิชาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานหรือ
ปฏิบัติงานด้วยตนเอง โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Instruction: PjBL) และบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาในด้านการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนในพื้นที่นิยมเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญและเลือกเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาสำคัญของโรงเรียนในพื้นที่ คือ ครูวิทยาศาสตร์ ยังขาดทักษะการจัดการเรียนรู้ปฏิบัติการหรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ อาจมาจากสาเหตุที่โรงเรียนขาดแคลนห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และวัสดุการทดลอง และที่สำคัญก็คือ บางโรงเรียนอาจมีครูสอนวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงวุฒิหรือผู้สอนตรงวุฒิแต่ขาดทักษะการสอนการทดลอง ขาดทักษะการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย เนื่องจากหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีล้าสมัย หลักสูตรไม่ได้มุ่งเน้นการฝึกทักษะการทดลองเป็นรายบุคคล หรือครูผู้สอนบางคนสอนมาเป็นระยะเวลานาน ขาดการอบรม ทบทวนในขั้นตอนหรือวิธีการทดลอง หรือขาดประสบการณ์ในการทดลองบางสาระในเนื้อหาวิชา เป็นต้น
   ปัญหาดังกล่าว ผู้สอนและผู้เรียนในรายวิชา WBI  เห็นความสำคัญของปัญหาร่วมกัน และหาแนวทางที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน (นอกเหนือจากวิธีการอบรม) และเผยแพร่ให้แก่ครูและผู้เรียนที่สนใจพัฒนาทักษะการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ คือ การพัฒนาบทเรียนอีเลิร์นนิ่งสอนการทดลองในห้องปฏิบัติการ ด้วยโปรแกรม eXeLearning (http://www.exelearning.org)  ซึ่งเน้นเนื้อหาเป็นข้อความ ภาพนิ่ง และวิดีทัศน์ โดยเน้นการใช้ "วิธีการสอนแบบสาธิตขั้นตอนการทดลอง" ในวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยบูรณาการร่วมกับโรงเรียนในโครงการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  (Science and Mathematics Program: SMP) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอีก 9 โรงเรียน (http://smp-blogspot.com) โดยให้ครูผู้สอนในโรงเรียน SMP เป็นครูผู้สอนหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา นักศึกษาในรายวิชา WBI เป็นผู้พัฒนาบทเรียน นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ SMP เป็นผู้สนับสนุนทีมพัฒนา และมีผู้สอน และคณาจารย์จากสาขาด้านวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นที่ปรึกษาโครงงาน

     สำหรับบทเรียนอีเลิร์นนิ่งต้นแบบในการจัดทำครั้งนี้ กำหนดเนื้อหาการทดลองหรือปฏิบัติการในรายวิชา เคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 4  จำนวน 7 เรื่อง โดยใช้หลักสูตรที่ปรับใช้ร่วมกันของโรงเรียนในเครือข่าย SMP ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ รายวิชาเพิ่มเติม เคมีเล่ม ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ กลุ่มสามารถการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศีกษาธิการ (สสวท.) โดยจัดทำเนื้อหารวม 7 เรื่อง ดังนี้

     1) เครื่องแก้วและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ
     2) การแยกสายการกลั่นธรรมดา
     3) การละลายของสารประกอบไอออนิกในน้ำ
     4) การเกิดปฏิกิริยาของสายประกอบไอโอนิก
     5) การแยกสารด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี
     6) สมบัติคอลลิเกทีฟของสารละลาย
     7) การแยกสายด้วยกรวยแยก