วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บทบาทของอาจารย์ กับการเสริมสร้างบทบาทของผู้นำนักศึกษาในการหนุนเสริมการสร้างสันติสุข

[Download เอกสารประกอบการบรรยาย]
ในสภาพที่สังคมไทยต้องการผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ การบ่อเพาะผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะฝึกฝน เปิดโอกาส จัดสถานการณ์ จัดเวที รวมทั้งโครงการ/กิจกรรมที่หนุนเสริมให้บัณฑิตสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิต เป็นผู้นำที่มีคุณภาพ "คิดดี คิดได้ คิดเป็น" นำพาตนเอง ครอบครัว สังคมรอบข้าง หรือประเทศชาติไปสู่ความสุข เป็นสังคมแห่ง "สันติสุข" ต่อไป
   วันที่ 18 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00-12.00 น. มีโอกาสเป็นวิทยากร ซึ่งได้รับเชิญจากกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย ผศ.วาสนา พิทักษ์ธรรม และทีมงาน เพื่อให้แนวคิดในเรื่อง "บทบาทของผู้นำนักศึกษาในการหนุนเสริมการสร้างสันติสุข" มีผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน




    เนื้อหาสาระสำคัญของการหนุนเสริม ได้แก่ ทบทวนเป้าหมายการเข้ามาเป็นผู้นำนักศึกษา คุณลักษณะของผู้นำที่สังคมต้องการ การฝึกคิดเชิงบวกสร้างสันติสุข และบทบาทของผู้นำในการหนุนเสริมการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ ออกเป็นอยู่ร่วมกับสังคมอย่างเป็นสุข เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป รวมทั้งให้แนวคิดการเป็นผู้นำหนุนเสริมกระบวนการพัฒนาของโลก สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามกรอบ SDGs 17 ด้านตามที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดกรอบเป้าหมายไว้

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

การออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ อยากจะเรียนรู้ นับเป็นปัญหาสำคัญของผู้สอนในยุคปัจจุบัน ที่ผู้เรียนกำลังเปลี่ยนถ่ายเป็นการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเป็นหลัก ผู้เรียนกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่ Digital Transformation Learner ด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็ว แต่ผู้สอนเองยังคงจัดการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ที่ง่ายและสะดวกต่อการสอนเพื่อสอบ
   การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://science.yru.ac.th/computer) จึงจำเป็นต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเน้นการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคต่างๆ ร่วมกัน (Blended Learning) ได้แก่  การแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4 คน ออกแบบและมอบหมายงาน (Assignment) ให้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยผู้สอนกำหนดกรอบเนื้อหา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มใช้เครื่องมือ Google App for Education ได้แก่ Google Slide (เน้นออกแบบและสร้างเป็น Infographic) สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีม นำเสนอผลงานของแต่ละทีมไปแชร์กันที่ชุมชนของรายวิชา ที่สร้างโดยใช้ Google+ 
    จากนั้น เน้นให้ทุกคนในทีมมีโอกาสนำเสนอผลงานของกลุ่มหน้าชั้นเรียนอย่างสร้างสรรค์  ออกแบบเป็นกิจกรรมเชิงรุก ทั้งนี้ โดยมีผู้สอนทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็น เสริมความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอเรียบร้อย หลังจากนั้นให้ผู้เรียนแต่ละคน บันทึกผลการเรียนรู้ประจำวันในเว็บบล็อกของตนเอง เพื่อสร้างทักษะการเขียน การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ