วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชมรมนักศึกษา: รูปแบบการบูรณาการการเรียนรู้ ประสบการณ์ในชั้นเรียนกับการบริการสังคม

 
ภาพเพิ่มเติม...
   บทบาทและหน้าที่ผู้สอนและหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ในปัจจุบัน นอกจาก มีหลักสูตรและผู้สอนดำเนินการสอนตามหลักสูตรเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรแล้วทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรเป็นบ้าง สามารถออกไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ซึ่งในอนาคตบัณฑิตรุ่นใหม่ในยุค Thailand 4.0  มีทางเลือกที่จะประกอบอาชีพหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ โดยอาศัยอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายในสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะไอซีทีขั้นสูง ที่จะเลือกสร้างสรรค์และนำเสนอสาระหรือผลิตภัณฑ์ในโลกของอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นผู้สร้างและสร้างมูลค่าจากโลกอินเทอร์เน็ตได้
    มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th) ได้ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ในทุกหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดลักษณะบัณฑิตต้องเป็นบัณฑิต "นักปฏิบัติมืออาชีพ" ที่ต้องแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติได้ ผสมผสานทั้ง Soft Skill (ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ภาษาอังกฤษ ทักษะไอซีที และ Hard Skill ในศาสตร์ที่เรียน) สำหรับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาของสาขาคอมพิวเตอร์ (ค.บ. 5 ปี) ใช้กลไกการพัฒนาผ่านการดำเนินงานของทีมในลักษณะของการตั้งเป็นชมรม คือ "ชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม http://yrucomputer.blogspot.com/?m=0 ) เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกในชมรม ได้ลงมือปฏิบัติจริง ให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ทักษะนุ่ม (Soft Skill) เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานในอนาคต เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสาร ทักษะการนำเสนอ ทักษะการใช้ไอซีทีประยุกต์การทำงานจริง ทักษะวิเคราะห์ สังเคราะห์ การสรุปความ ซึ่งเกิดจากการนำไปใช้ในสถานการณ์ชีวิตจริง
      ในระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2559  สมาชิกและผู้นำชมรมส่วนหนึ่ง จำนวน 20 คน ให้นักศึกษามีโอกาสเข้าร่วม "งานมหกรรมการแสดงผลงานด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศเพื่อเสริมพลังเยาวชนที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทย" จัดขึ้น ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดโดย สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ หรือ สอ.ดย. (http://www.dordek.org) ร่วมกับบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พะเยา ภูเก็ต ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซี่งได้ร่วมกันดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2559 จัดกิจกรรมร่วมกันมาตามลำดับ ชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับมอบหมายเป็นองค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดยะลา ตั้งแต่จัดอบรมปฏิบัติการการพัฒนาครูต้นแบบเพื่อถ่ายทอดความรู้การใช้ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์สร้างสื่อรณรงค์การต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาวาระของชาติ การพัฒนานักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งการนำผลงานที่ได้ร่วมมหกรรมพัฒนาผลงานด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศในครั้งนี้ด้วย โดยนำผลงานโปสเตอร์และแผ่นพับรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ผ่านการคัดเลือก ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ร่วมเสวนาถึงผลการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
รับโล่เกียรติยศในนามมหาวิทยาลัย
ราชภัฏยะลา ที่สนับสนุนการพัฒนา
เยาวชนร่วมกับ สอ.ดย. และไมโครซอฟท์
ประเทศไทย รวมทั้งร่วมกับเครือข่ายภาคีการ
การพัฒนาด้านไอซีทีให้แก่เยาวชน
จากทั่วประเทศ

    ผลการเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาเกิดทักษะการทำงานในสถานการณ์จริง ได้รับประสบการณ์ตรง โดยการบูรณาการระหว่างความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนรู้ในใช้เรียน มาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานในระหว่างเรียน ที่สำคัญมากๆ คือการสร้างเครือข่ายการทำงาน ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ การเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (Work Integrated Learning: WIL)  โดยใช้สถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ (Event) เป็นกรณีศึกษา ฝึกให้นักศึกษาทำงานเป็นทีม ทำงานเชิงระบบ วางแผน (Plan: P) ลงมือปฏิบัติ (Do: D) ประเมินผล (Check: C) และนำไปปรับกระบวนการทำงาน (Action: A) ในโอกาสต่อไป
     อย่างไรก็ตาม บทบาทของอาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ต้องนำนักศึกษาออกนอกห้องเรียนให้มากที่สุด จัดหรือสร้าง หรือหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนอกชั้นเรียน ถอดบทเรียนโดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ และประเมินผลคุณค่าของการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง ผู้สอนควรเป็นผู้จัดสถานการณ์การเรียนรู้ มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา ผู้ชี้แนะ ผู้ลงมือปฏิบัติควรเป็นนักศึกษา ผู้สอนหาเวทีหรือโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเสนอ สร้างแรงบันดาลใจ ความภาคภูมิใจในชิ้นงานหรือผลงานของผู้เรียน ส่งเสริมให้เป็นผู้สร้างสรรค์ จึงจะสามารถสร้าง "บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ" ได้ในอนาคต






ภาพเพิ่มเติม...