วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

โครงการ Computer science and ICT to empower at-risk trafficking youths in Thailand :การประยุกต์ใช้ไอซีทีพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 29 มกราคม 2559 ได้มีโอกาสเป็นตัวแทน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา‬ พร้อม อาจารย์นโรดม กิตติเดชานุภาพ อาจารย์สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมประชุมเตรียมการดำเนินงาน "โครงการ Computer science and ICT to empower at-risk trafficking youths in Thailand ณ โรงแรมในทอนบุรี จ.ภูเก็ต ซึ่งในโครงการนี้ ผู้รับผิดชอบหลัก คือ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (http://www.dordek.org) ร่วมกับศูนย์ไอซีทีภูเก็ต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี คุณศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กฯ ให้เกียรติเป็นประธานในที่ประชุม พร้อมคุณธีรพันธุ์ เพ็ญโรจน์ รองผู้อำนวยการฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน
คุณศรีศักดิ์ ไทยอารี 
    สำหรับเป้าหมายของโครงการนี้ คือ การพัฒนาความรู้ ทักษะไอซีทีเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเยาวชนจากการค้ามนุษย์ หรือการย้ายถิ่นฐาน ตามหลักสูตรของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ นักศึกษา เยาวชน ในจังหวัดชายแดนใต้ 400 คน ครูหรือเยาวชน แกนนำ 30 คน ดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ย.59 โดยใช้ฐานสถานที่และทรัพยากรด้านไอซีทีของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) เป็นฐาน ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินงานโดยอาศัยศักยภาพชมรมนักศึกษา มรย. ได้แก่ ชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา เป็นองค์กรขับเคลื่อน เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่บัณฑิตก่อนออกไปทำงาน และในอนาคตอาจมีความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ และ มรย. นับเป็นประโยชน์กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะรองรับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) 

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวทางการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Active Learning) : ส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21

     ปัญหาสำคัญที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ (ใช้แทนคำว่าการเรียนการสอน) ในยุคไอซีทีของผู้สอนที่สำคัญที่สุดคือ สอนมาก แต่เรียนรู้ได้น้อย (Teach More, Learn Less) แทนที่จะเป็นการ สอนน้อย เรียนรู้ได้มาก หรือ Teach Less Learn More (พิจารณ์ พานิช, 2554)  ทำให้นักเรียน นักศึกษา เกิดความเบื่อหน่าย ไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ไม่ท้าทาย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่จะออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพ ซึ่งความรู้ ข้อเท็จจริงต่างๆ ผู้เรียนสามารถสืบค้นและหาได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจารย์ Goo (Google) จัดเตรียมไว้ให้แล้วอย่างดีเป็นส่วนใหญ่  แต่ผู้สอนยังใช้วิธีการสอนแบบดั้งเดิม คือ การใช้  Presentation and Talk หรือ Chalk and Talk (ใช้สไลด์ PowerPoint และบรรยาย/อ่าน แล้วก็นัดสอบ บางครั้งหนักมากถึงกับใช้สไลด์สอนแทนผู้สอนเลยก็มี)  ผู้สอนยังหวงแหนในมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  (Teacher Center) ยังเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในชั้นเรียน เป็นผู้นำการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) และปรับบทบาทเป็นผู้จัดสถานการณ์การเรียนรู้ ผู้แนะนำให้คำปรึกษา (Coach) ทั้งนี้ เนื่องจากการทำหน้าที่บทบาทดังกล่าว ผู้สอนจะต้องเตรียมการ และวางแผนการจัดการเรียนการสอนมาเป็นอย่างดี นอกจากการมีแผนการสอนหรือรายละเอียดในรายวิชา (มคอ. 3) เท่านั้น
      สำหรับปัญหาของนักศึกษาใน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆ กับหลายสถาบันการศึกษา ก็คือ นักศึกษาขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ และทักษะการประยุกต์ใช้งานจากความรู้ในห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริง สำคัญที่สุด คือขาดความกระตือรือร้น กระหายใฝ่รู้ ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ นักเรียน นักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ ได้แก่ ทักษะการใช้และการสื่อสารด้วยภาษาไทยที่ไม่คล่องนัก ทั้งการเขียน การอ่าน ทั้งนี้ ด้วยวิถีชีวิตใช้ภาษามลายูถิ่นมาตั้งแต่กำเนิดและใช้ในสื่อสารจริงในวิถีชีวิตมาตลอด ทำให้ภาษาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และการสร้างความมั่นใจในการสื่อสาร รวมทั้ง การใช้ชีวิตในสังคมนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงนับเป็นการจำกัดโอกาสไปด้วย
       ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาของแต่ละหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฯ  จึงต้องร่วมกันจัดการเรียนรู้เพื่อบูรณาการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดความรุนแรงของปัญหา โดยการพยายามส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้น
      ตัวอย่างแนวทางการเรียนการสอนในรายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะต้องสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตและเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ จึงพยายามใช้เทคนิคการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะ การใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ ทักษะการนำเสนอและการสื่อสาร และทักษะการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยผ่านเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ผลปรากฎว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจและสร้างความกระตือรือร้นในการฝึกปฏิบัติ จนสามารถทำงานสำเร็จในภาคเรียนได้

เว็บบล็อก: เครื่องมือง่ายๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองและแหล่งรวบรวมประวัติของนักศึกษา


   เว็บบล็อก หรือ บล็อก (Weblog / Web Blog หรือ Blog) นับเป็นเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ที่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ หรือผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทั่วไปในปัจจุบัน สามารถสร้าง ออกแบบ และเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร เรื่องราวต่างๆ ของตนเองได้โดยสะดวก นำเสนอได้ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การสร้างลิงก์เชื่อมโยง โดยเผยแพร่เรื่องราว เรื่องเล่า บทความทั่วไปต่างๆ ตามลำดับเหตุการณ์วันและเวลาที่เขียนและเผยแพร่ สามารถกำหนดคำสำคัญ (Tag) เพื่อความสะดวกในการสืบค้นหรือค้นคืนย้อนหลังได้ สามารถนับสถิติผู้เข้าชมเว็บบล็อกได้ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ใช้บริการแสดงความคิดเห็น (Comment) และแลกเปลี่ยน (Shared) ไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook  Twitter หรืออีเมลได้โดยสะดวก และยังสามารถเชิญชวนและอนุญาตให้สมาชิกเว็บบล็อกร่วมเป็นผู้เรียนหรือผู้จัดการเว็บบล็อกร่วมกับผู้สร้างเว็บบล็อกได้อีกด้วย
http://waneesara.blogspot.com

     ในปัจจุบันมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่ให้บริการพื้นที่และเครื่องมือสำหรับสร้างเว็บบล็อกส่วนบุคคล หรือ เว็บบล็อกขององค์กร ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ผู้ให้บริการ ชื่อเว็บไซต์อยู่ภายใต้โดเมนที่เว็บไซต์ผู้ให้บริการกำหนดให้ เช่น http://ict-bl.blogspot.com  เว็บไซต์ผู้ให้บริการ คือ www.Blogger.com ของ Google เว็บไซต์ที่มีผู้นิยมใช้บริการสร้างเว็บบล็อก ได้แก่ Blogger (http://www.blogger.com หรือ http://www.blogspot.com) ของบริษัท Google Wordpress (http://www.wordpress.com) ของบริษัท WordPress และ อื่นๆ อีกมากมาย 
     ด้วยคุณลักษณะเด่นของเว็บบล็อก ที่สามารถสร้างขึ้นโดยสะดวก ใช้งานง่าย ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ดำเนินการเพียงไม่กี่ขั้นตอน ก็สามารถสร้างเว็บบล็อกได้ เช่น การสร้างเว็บบล็อกด้วย http://www.blogger.com ใน 3 ขั้นตอน และให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีรูปแบบ (Template) เครื่องมือการตกแต่ง (Gadget) ให้เลือกตามความชอบส่วนบุคคล และยังมีซอฟต์แวร์หรือ Application เสริมความสามารถของเว็บบล็อก และสามารถแลกเปลี่ยน (Shared) เรื่องราวกับเครือข่ายสังคมออไลน์อื่นๆ ได้โดยสะดวก
      จากความสามารถและคุณลักษณะเด่นของเว็บบล็อกดังกล่าว ผู้สอนจึงทดลองได้นำเว็บบล็อกมาใช้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกระตือรือร้น (Active Learning) ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาและจะเขียนเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งสรุปเนื้อหาจากการเรียนรู้ในชั้นเรียนไว้ในเว็บบล็อกของตนเอง โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำ (Commentator) หรือที่ปรึกษา (Consultant) ผลการใช้กิจกรรมดังกล่าว ผู้เรียนสามารถสร้างเว็บบล็อกและพัฒนาทักษะการใช้ไอซีทีในการพัฒนาเนื้อหาเว็บบล็อกได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นให้ผู้เรียนเขียนเรื่องราวที่ใช้ภาษาอย่างเป็นทางการหรือกึ่งทางการมากกว่าการใช้ภาษาพูด คำสแลง หรือคำไม่สุภาพดังเช่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อฝึกทักษะการเขียนให้แก่นักศึกษา ซึ่งนับเป็นการแสดงออกซึ่งทักษะขั้นสูงของผู้เรียน ฝึกนิสัยรักการเขียน ซึ่งในปัจจุบันนักศึกษายังมีปัญหาในเรื่องทักษะการเขียนอยู่มาก
     ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา การสอนผ่านเว็บ ผู้สอนได้กำหนดงานมอบหมาย "การพัฒนาเว็บบล็อกเพื่อการเรียนรู้" ให้นักศึกษาทุกคนสร้างและพัฒนาเว็บบล็อกของตนเองด้วยเครื่องมือของ Google คือ www.Blogger.com ซึ่งมี ขั้นตอนการสร้างง่ายมากเพียง 3 ขั้นตอน และมีคู่มือ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเว็บบล็อกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อยู่มากมาย ทั้งนี้ เพื่อฝึกทักษะความรับผิดชอบ ทักษะการเขียน ทักษะการสื่อสาร และที่สำคัญคือเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราว ผลงาน หรืออื่นๆ ที่เป็นประวัติส่วนตัว (Profile) ของนักศึกษาเอง ซึ่งผลการกำหนดให้ผู้เรียนทำกิจกรรมดังกล่าว พบว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถสร้างเว็บบล็อก พัฒนาต่อยอด และรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของตนได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างทักษะและลักษณะนิสัย "รักการเขียน" ซึ่งถือเป็นทักษะขั้นสูงของบัณฑิตไทย ที่ปัจจุบันมักจะพบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่อ่านไม่เป็นและเขียนไม่เป็น ปัจจุบันบัณฑิตส่วนใหญ่เน้น "การดูสื่อมัลติมีเดีย" อย่างลวกๆ และเร็วๆ มากกว่าการอ่าน ส่วนทักษะการเขียนก็ค่อนข้างมีปัญหา ใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ขาดทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปความ
     ตัวอย่างผลงานของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (รุ่นที่ 1 หลังจากปรับปรังปรุงหลักสูตร) ที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูมืออาชีพ "เก่งสอนด้วยไอซีที เก่งศาสตร์ และปฏิบัติตนดี"  ดังลิงก์ต่อไปนี้ ลองศึกษาดูเว็บบล็อกของผู้เรียน ดังต่อไปนี้
  1. http://hakimah100.blogspot.com
  2. http://latipahsarased.blogspot.com/
  3. http://mameesulongku.blogspot.com/
  4. http://krm-learning.blogspot.com/
  5. http://rosidah-computer.blogspot.com/
  6. http://saowanee-ny.blogspot.com/
  7. http://sainah-computer.blogspot.com/
  8. http://leehah-computer.blogspot.com/
  9. http://mustorfa.blogspot.com/
  10. http://imrancom-ed.blogspot.com/
  11. http://sunita-computer.blogspot.com/
  12. http://ict-learingyru.blogspot.com
  13. http://hakimah100.blogspot.com/
  14. http://sarinauma.blogspot.com/
  15. http://ardeeman017.blogspot.com/
  16. http://karimah-mu.blogspot.com/
  17. http://waheedah006.blogspot.com
  18. http://nop021.blogspot.com/
  19. http://waneesara.blogspot.com/
  20. http://subaidahhawae.blogspot.com
  21. http://rusminee019.blogspot.com/
  22. http://nan161136.blogspot.com/
  23. http://nuresakah.blogspot.com/
  24. http://anisa035.blogspot.com/
  25. http://wardah-chemah.blogspot.com/
  26. http://happykt2.blogspot.com/
  27. http://safwani1028.blogspot.com/
  28. http://habiecomed.blogspot.com/
  29. http://zulkiflee1.blogspot.com/
  30. http://patimoh011.blogspot.com/
  31. http://naseebahsa-a.blogspot.com/
  32. http://slm-elearning.blogspot.com/
  33. http://nidee004.blogspot.com/
  34. http://wapa-maming.blogspot.com/
  35. http://fairosecomedu.blogspot.com/
  36. http://abizi034.blogspot.com/
  37. http://hayarolasawad012computer.blogspot.com