วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การเรียนรู้นอกห้องเรียน: สร้างบรรยากาศและแรงจูงใจให้แก่นักศึกษา

การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยอาจารย์ผู้สอนยืนอยู่หน้าชั้นเรียน นักเรียนหรือนักศึกษานั่งประจำโต๊ะ (ถึงแม้จะเป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์) เป็นอย่างนี้ทุกครั้งในชั่วโมงสอน ก็อาจสร้างบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย ขาดแรงจูงใจ ไม่สะดวกในการทำกิจกรรมกลุ่ม ไม่เป็นบรรยากาศที่สนองตอบวิถีชีวิตแบบ Life Stye ของนักศึกษาในยุค Gen Y ทำให้เกิดสถานการณ์ "สอนมาก เรียนน้อย" ซึ่งอาจจะไม่เกิดการเรียนรู้ในการสอนครั้งนั้นเลยก็ได้ เพราะผู้เรียนไม่ได้มีโอกาสการลงมือทำในกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมาย
      การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา (http://science.yru.ac.th/computer) ซึ่งเนื้อหาสำคัญของวิชาส่วนใหญ่เป็นทฤษฎี ข้อมูล ข้อและเท็จจริง (Fact)  ที่ผู้เรียนสามารถสืบค้นได้ทั้งหมดด้วย Google ดังนั้น ผู้สอนจึงจะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing) และเลือกใช้โดยใช้แนวคิดของการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) ร่วมกับการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team-based Learning: TBL) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการสอนแบบ Active Learning  โดยผู้เรียนจะต้องมีชิ้นงานหรือผลงาน ที่เกิดจากการทำกิจกรรมของทีมหรือกลุ่ม ผู้สอนจะให้โอกาสได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน นอกห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้ห้องเสริมการเรียนรู้ (ห้องติว) ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการฯ เป็นสถานที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตามสไตล์ของนักศึกษา Gen Y ที่เน้นความสะดวกสบาย ความเป็นส่วนตัว มีอุปกรณ์สนับสนุนในการทำกิจกรรม มี Wifi ความเร็วสูง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา นับเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เสริมแรงจูงใจ
    จากนั้น ผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้เผยแพร่ในชุมชนรายวิชา (Google+) และสรุปสาระการเรียนรู้ในเว็บบล็อกของตนเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ ผู้สอนติดตามให้ข้อเสนอแนะ ทำหน้าที่เป็น Coach ให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุง เอกสารทุกอย่างแชร์และทำงานร่วมกันใน Google Drive ทำให้การเรียนรู้ของรายวิชาไม่มีรายงาน ทุกอย่างไร้กระดาษ Paperless สร้างทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้เรียนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้










ไม่มีความคิดเห็น: