วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความสำเร็จกระบวนการให้คำปรึกษาโครงการวิจัยผ่านเครื่องมือบนคลาวน์คอมพิวติ้ง


Google Mail ในการติดต่อสื่อสารและค้นคืนเรื่องเดิม
Google Mail สำหรับการติดตามและการสื่อสารอย่างเป็นทางการ สะดวกในการค้นคืน
  
      ยุคปัจจุบัน ดังที่ได้เรารับรู้รับทราบความสำคัญของเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ทีี่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างไร้ข้อจำกัดด้านระยะทาง เวลา และสถานที่ มีผลทำให้วิถีการดำเนินชีวิต การเรียนรู้ การทำงานของเราเปลี่ยนไป จากแบบเดิมๆ ในอดีตอย่างมากมาย ซึ่งหากเราเองใม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว เราอาจอยู่ในสังคมโดยขาดโอกาสในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องที่ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือแทนวิถีแบบเดิมๆ 
    สำหรับการจัดการเรียนรู้หรือการศึกษาของหลักสูตรก็เช่นกัน ทั้งโครงสร้าง รายวิชาเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้ในหลักสูตรอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันอย่างขนานใหญ่ รวมถึงบทบาทของผู้สอนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนให้ทันต่อวิถีชีวิตของผู้เรีียนในศตวรรษที่ 21  ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาการสอนในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ. 5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา  คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ซึ่งนักศึกษาต้องออกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา (โรงเรียน) เป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา นักศึกษาจะเลือกสถานศึกษาในเขตจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี เป็นส่วนใหญ่ โดยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สอนในสถานศึกษา นักศึกษาต้องมีหน้าที่ปฏิบัติการสอน และมีกิจกรรมเสริมจำนวนมาก ได้แก่ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุกประเภทในโรงเรียน นักศึกษาต้องพัฒนาโครงการ (Project) เพื่อการพัฒนานักเรียน ครูผู้สอน หรือพัฒนาโรงเรียน ที่สำคัญนักศึกษาแต่ละคนจะต้องทำ "โครงการวิจัยพัฒนาการเรียนรู้หรือวิจัยชั้นเรียน" เป็นรายบุคคล คนละ 1 เรื่อง โดยใช้องค์ความรู้จากหลักสูตรและปัญหาที่พบในโรงเรียนหรือห้องเรียนในการทำวิจัย และดำเนินการวิจัย จัดทำรายงานการวิจัยให้เสร็จสิ้นในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา โดยมีครูพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศก็ประจำโรงเรียน และอาจารย์นิเทศก์ประจำหลักสูตรให้คำปรึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การเรียนรู้นอกห้องเรียน: สร้างบรรยากาศและแรงจูงใจให้แก่นักศึกษา

การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยอาจารย์ผู้สอนยืนอยู่หน้าชั้นเรียน นักเรียนหรือนักศึกษานั่งประจำโต๊ะ (ถึงแม้จะเป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์) เป็นอย่างนี้ทุกครั้งในชั่วโมงสอน ก็อาจสร้างบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย ขาดแรงจูงใจ ไม่สะดวกในการทำกิจกรรมกลุ่ม ไม่เป็นบรรยากาศที่สนองตอบวิถีชีวิตแบบ Life Stye ของนักศึกษาในยุค Gen Y ทำให้เกิดสถานการณ์ "สอนมาก เรียนน้อย" ซึ่งอาจจะไม่เกิดการเรียนรู้ในการสอนครั้งนั้นเลยก็ได้ เพราะผู้เรียนไม่ได้มีโอกาสการลงมือทำในกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมาย
      การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา (http://science.yru.ac.th/computer) ซึ่งเนื้อหาสำคัญของวิชาส่วนใหญ่เป็นทฤษฎี ข้อมูล ข้อและเท็จจริง (Fact)  ที่ผู้เรียนสามารถสืบค้นได้ทั้งหมดด้วย Google ดังนั้น ผู้สอนจึงจะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing) และเลือกใช้โดยใช้แนวคิดของการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) ร่วมกับการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team-based Learning: TBL) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการสอนแบบ Active Learning  โดยผู้เรียนจะต้องมีชิ้นงานหรือผลงาน ที่เกิดจากการทำกิจกรรมของทีมหรือกลุ่ม ผู้สอนจะให้โอกาสได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน นอกห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้ห้องเสริมการเรียนรู้ (ห้องติว) ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการฯ เป็นสถานที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตามสไตล์ของนักศึกษา Gen Y ที่เน้นความสะดวกสบาย ความเป็นส่วนตัว มีอุปกรณ์สนับสนุนในการทำกิจกรรม มี Wifi ความเร็วสูง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา นับเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เสริมแรงจูงใจ
    จากนั้น ผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้เผยแพร่ในชุมชนรายวิชา (Google+) และสรุปสาระการเรียนรู้ในเว็บบล็อกของตนเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ ผู้สอนติดตามให้ข้อเสนอแนะ ทำหน้าที่เป็น Coach ให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุง เอกสารทุกอย่างแชร์และทำงานร่วมกันใน Google Drive ทำให้การเรียนรู้ของรายวิชาไม่มีรายงาน ทุกอย่างไร้กระดาษ Paperless สร้างทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้เรียนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้