วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21


บทบาทหน้าที่สำคัญของครูยุคใหม่ คือ การออกแบบสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ในชีวิตจริง การประกอบอาชีพจริงในอนาคตให้แก่ผู้เรียน และเพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ มากกว่าการท่องจำและความเข้าใจเท่านั้น รวมทั้งเพื่อฝึกทักษะการใช้ไอซีทีสำหรับสร้างทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ได้แก่ ความรู้ด้านสารสนเทศ ความรู้เกี่ยวกับสื่อ ความรู้ด้านเทคโนโลยี 
    ตัวอย่างการจัดสถานการณ์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษา สาขาคอมพิวเตอร์ (ค.บ.5 ปี) http://comedu.yru.ac.th  เปิดสอนในโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://ict.yru.ac.th) ในรายวิชาการจัดการสารสนเทศทางการศึกษา ในกิจกรรมการเรียน บทที่ 2 ระบบสารสนเทศ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นหลักการและข้อเท็จจริง (Fact) ผู้เรียนจึงสามารถศึกษาด้วยการอ่านด้วยตนเองได้เป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาประกอบด้วย ความหมายของระบบสารสนเทศ องค์ประกอบระบบสารสนเทศ ประโยชน์ของสารสนเทศ ประเภทของระบบสารสนเทศและตัวอย่าง 
     การจัดการเรียนรู้ในรายวิชา เน้นการใช้ไอซีทีโดยใช้ ระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearning.yru.ac.th) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นหลัก ร่วมกับซอฟต์แวร์ผ่านเทคโนโลยีคลาวน์คอมพิวเตอร์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะและสังเคราะห์ และฝึกทักษะแห่งการเรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วย มีขั้นตอนการสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ ดังนี้
  1. สร้างบทเรียนใน ระบบอีเลิร์นนิ่ง ในลักษณะของ e-Book แบบง่ายๆ ด้วยเครื่องมือใน Moodle LMS แล้วเผยแพร่เป็นบทเรียนมาตรฐานเป็น SCORM Package 
    บทเรียน e-Book เป็น SCORM Package สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้หลักในบทเรียน

  2. กำหนด งานมอบหมาย(Assignment) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองผ่าน e-Book ที่ผู้สอนจัดเตรียมเนื้อหาไว้ให้ หรือผู้เรียนสามารถสืบค้นจากแหล่งความรู้อื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมได้ โดยกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การส่งงาน และเกณฑ์การให้คะแนน
    งานมอบหมาย (Assignment) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง

  3. การบ้านกำหนดให้นักศึกษาศึกษาเนื้อหา แล้ววิเคราะห์และสังเคราะห์วาดเป็น ผังความคิด (Mind Map) ด้วยซอฟต์แวร์บนคลาวน์ คือ Cacoo ซึ่งผู้เรียนต้องติดตั้งเพิ่มใน Google Chrome เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างผังความคิด (ใช้ Google Account ในการลงทะเบียน) โดยผังความคิดจะต้องมีความสัมพันธ์กันในหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย ( https://chrome.google.com/webstore/detail/cacoo-diagramming-real-ti/pcflmbddgcmomcfngehfhlajjapabojh?utm_source=chrome-ntp-icon)
    ติดตั้ง Cacoo ค้นหาจาก Chrome Web Store
    https://chrome.google.com/webstore/search/cacoo?utm_source=chrome-ntp-icon
  4. การบ้านกำหนดให้ผู้เรียน อธิบายสรุป "ผังความคิด" ที่ได้ ไม่เกิน 10 บรรทัด เพื่อฝึก ทักษะการอ่านและสรุปความ รวมทั้ง การเขียน (พิมพ์) โดยให้พิมพ์เป็นข้อสรุปไว้ต่อจาก "ผังความคิด" ของแต่ละคนในซอฟต์แวร์ Cacoo
    ตัวอย่างผลงานของนักศึกษาที่ส่งงาน
  5. การส่งการบ้าน ทำโดยให้ Copy ลิงก์ที่แชร์ไฟล์ "ผังความคิด" จากซอฟต์แวร์ Cacoo ส่งลิงก์ไว้ในระบบอีเลิร์นนิ่งในงานที่มอบหมาย เพื่อให้ผู้สอนสามารถตรวจงานได้สะดวก (ฝึกทักษะการแชร์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม)
    ตัวอย่างการส่งลิงก์ที่แชร์ผลงานที่นำเสนอไว้ในซอฟต์แวร์ Cacoo
  6. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มเรียน กำหนดให้ผู้เรียน Copy ลิงก์ที่แชร์ไฟล์ "ผังความคิด" จากซอฟต์แวร์ Cacoo ไปวางหรือแชร์ไว้ใน ชุมชน Google+ ของรายวิชา ซึ่งผู้สอนสร้างไว้และให้ผู้เรียนเป็นสมาชิกในชุมชนนี้ (https://plus.google.com/u/0/communities/107503200208618731454)
    การเผยแพร่ผลงานผ่าน Google+ "ชุมชนรายวิชาการจัดการการสารสนเทศด้านการศึกษา"

        ผลการจัดการเรียนรู้ จากการสังเกตของผู้สอน พบว่าการปฏิบัติงานในชั่วโมงปฏิบัติ 2 ชั่วโมง (มอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหามาจากบ้าน) ของผู้เรียน เพื่อสร้างชิ้นงานส่งตามงานมอบหมาย พบว่า ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานได้และส่งงานได้ตามกำหนดทุกคน ผู้เรียนมีสมาธิจดจ่อและตั้งใจในการปฏิบัติงานส่งตามกำหนด ผู้เรียนมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติงาน โดยการปรึกษาหารือ การสอบถามกันในกลุ่มเรียนในขณะปฏิบัติงาน ห้องเรียนมีลักษณะเป็น ห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาในการเรียนรู้ (Acitve Learning Classroom) ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ผู้เรียนภูมิใจในผลงานที่สร้างได้ด้วยตนเอง
    นอกจากนั้น ที่สำคัญ คือประสบการณ์การเรียนรู้ในชั้นเรียน จากสถานการณ์การเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดให้ จะเป็นแนวทางหรือตัวอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของ "ครูคอมพิวเตอร์" ในอนาคตของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งเรียนในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิ์ (ค.บ.5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์/คอมพิวเตอร์ศึกษา (Computer Education) โดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและเป้าหมายของหลักสูตร มุ่งหวังให้เป็น "ครูคอมพิวเตอร์ต้นแบบ" ที่เก่งทั้งศาสตร์ในสาขาวิชา และเก่งเทคนิคการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 เน้นไอซีทีเป็นฐาน

อ้างอิงเพิ่มเติม:

ไม่มีความคิดเห็น: