วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวทางการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Active Learning) : ส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21

     ปัญหาสำคัญที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ (ใช้แทนคำว่าการเรียนการสอน) ในยุคไอซีทีของผู้สอนที่สำคัญที่สุดคือ สอนมาก แต่เรียนรู้ได้น้อย (Teach More, Learn Less) แทนที่จะเป็นการ สอนน้อย เรียนรู้ได้มาก หรือ Teach Less Learn More (พิจารณ์ พานิช, 2554)  ทำให้นักเรียน นักศึกษา เกิดความเบื่อหน่าย ไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ไม่ท้าทาย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่จะออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพ ซึ่งความรู้ ข้อเท็จจริงต่างๆ ผู้เรียนสามารถสืบค้นและหาได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจารย์ Goo (Google) จัดเตรียมไว้ให้แล้วอย่างดีเป็นส่วนใหญ่  แต่ผู้สอนยังใช้วิธีการสอนแบบดั้งเดิม คือ การใช้  Presentation and Talk หรือ Chalk and Talk (ใช้สไลด์ PowerPoint และบรรยาย/อ่าน แล้วก็นัดสอบ บางครั้งหนักมากถึงกับใช้สไลด์สอนแทนผู้สอนเลยก็มี)  ผู้สอนยังหวงแหนในมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  (Teacher Center) ยังเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในชั้นเรียน เป็นผู้นำการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) และปรับบทบาทเป็นผู้จัดสถานการณ์การเรียนรู้ ผู้แนะนำให้คำปรึกษา (Coach) ทั้งนี้ เนื่องจากการทำหน้าที่บทบาทดังกล่าว ผู้สอนจะต้องเตรียมการ และวางแผนการจัดการเรียนการสอนมาเป็นอย่างดี นอกจากการมีแผนการสอนหรือรายละเอียดในรายวิชา (มคอ. 3) เท่านั้น
      สำหรับปัญหาของนักศึกษาใน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆ กับหลายสถาบันการศึกษา ก็คือ นักศึกษาขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ และทักษะการประยุกต์ใช้งานจากความรู้ในห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริง สำคัญที่สุด คือขาดความกระตือรือร้น กระหายใฝ่รู้ ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ นักเรียน นักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ ได้แก่ ทักษะการใช้และการสื่อสารด้วยภาษาไทยที่ไม่คล่องนัก ทั้งการเขียน การอ่าน ทั้งนี้ ด้วยวิถีชีวิตใช้ภาษามลายูถิ่นมาตั้งแต่กำเนิดและใช้ในสื่อสารจริงในวิถีชีวิตมาตลอด ทำให้ภาษาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และการสร้างความมั่นใจในการสื่อสาร รวมทั้ง การใช้ชีวิตในสังคมนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงนับเป็นการจำกัดโอกาสไปด้วย
       ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาของแต่ละหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฯ  จึงต้องร่วมกันจัดการเรียนรู้เพื่อบูรณาการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดความรุนแรงของปัญหา โดยการพยายามส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้น
      ตัวอย่างแนวทางการเรียนการสอนในรายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะต้องสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตและเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ จึงพยายามใช้เทคนิคการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะ การใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ ทักษะการนำเสนอและการสื่อสาร และทักษะการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยผ่านเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ผลปรากฎว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจและสร้างความกระตือรือร้นในการฝึกปฏิบัติ จนสามารถทำงานสำเร็จในภาคเรียนได้

ไม่มีความคิดเห็น: