วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การออกแบบการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน: สถานการณ์จริงของชีวิต

บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุขนอกชั้นเรียนปกติ
https://plus.google.com/u/0/communities/107503200208618731454 
     การจัดการเรียนรู้สมัยใหม่และในอนาคตมีหลากหลายรูปแบบ วิธีและรูปแบบปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตามบริบทและสภาพการณ์ภายนอก ซึ่งเป็นวิถีชีวิต วิถีการทำงานหรือประกอบอาชีพ จึงทำให้วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนไป  อย่างไรก็ตาม ครู อาจารย์ส่วนใหญ่ของไทย ก็ยังคงยึดกรอบการออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ จะต้องมีห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีกระดานดำหรือไวท์บอร์ด ดีหน่อยก็มีอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โปรเจคเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ในห้องจัดโต๊ะและเก้าอี้เรียงเป็นแถว รอบ ๆ ห้องเรียนมีป้ายนิเทศหรืบอร์ดนิทรรศการ (ซึ่งไม่ค่อยได้เปลี่ยนเนื้อหา)
   กระบวนการจัดการเรียนการสอน ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการออกแบบสถานการณ์การเรียนรู้ (Learning Process Design:LPD)  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้ (Learning Outcome) ไม่ควรเน้นแต่การถ่ายทอดเนื้อหา (Content) ให้ครบถ้วน เพื่อจะทำให้สามารถสอบวัดประเมินผลให้ครบสาระการเรียนรู้ ซึ่งก็คงไม่ผิด เพียงแต่ว่าอาจเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในอนาคตได้น้อย โดยเฉพาะ "ทักษะการเรียนรู้" สำหรับชีวิตจริงในอนาคต

ตัวอย่างงานมอบหมาย (Assignment) ในระบบอีเลิร์นนิ่ง
     ดังนั้น บทบาทสำคัญจึงอยู่ที่ครูผู้สอนที่จะต้องปรับเปลี่ยนกรอบคิด (Mindset) เข้าใจบทบาทของผู้จัดการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยี  ซึ่งเน้นเป็นผู้แนะนำหรือให้คำปรึกษาการเรียนรู้เป็นสำคัญ  ครูจะปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างไร เพราะครูคือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ คือ กรอบคิดของครูหรือผู้สอนในการออกแบบจัดการเรียนรู้เพื่ออนาคตของผู้เรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพื่อการประเมินผล ให้ได้คะแนนผู้เรียนสำหรับการวัดระดับผลการเรียนในรายวิชาเท่านั้น

รายละเอียดงานมอบหมาย (Assignment) 


    ในรายวิชา การจัดการสารสนเทศเพื่อการศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบันฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ได้ทดลองออกแบบจัดการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าในสถานการณ์ สภาวการณ์การศึกษาของชาติ  มีโอกาสศึกษาข้อมูลและสารสนเทศที่สำคัญด้านการศึกษาจากฐานข้อมูลการศึกษาแห่งชาติ (http://www.mis.moe.go.th/mis2018)  ออกแบบเป็นกิจกรรมมอบหมายงาน (Assignment Activity) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearning.yru.ac.th) แบ่งกลุ่มหรือทีมศึกษาข้อมูล ทีมละ 4-5 คน  ทำกิจกรรมของกลุ่มนอกห้องเรียน โดยใช้ห้องศึกษาค้นคว้าอิสระที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ (ห้องสมุด) จัดให้ มีความพร้อมและสะดวกสบาย ร่วมกันศึกษาข้อมูล เลือกประเด็นที่กลุ่มสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลและสารสนเทศการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) วิเคราะห์  สังเคราะห์  และจัดทำสื่อนำเสนอร่วมกันผ่าน Google Application ได้แก่ สไลด์ (Google Slide) นำเสนอ  แชร์สไลด์นำเสนอในชุมชนการเรียนรู้ในรายวิชาที่จัดการด้วย Google+ และบันทึกผลการเรียนรู้ครั้งนี้ใน Web Blog ของตนเอง  โดยให้นำเสนอในห้องเรียน Smart Classroom เพื่อบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้เผยแพร่ต่อไป
ตัวอย่างการแชร์กิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนรายวิชาผ่าน Google+
   สำหรับเป้าหมายจากการเรียนรู้ (Leaning Goal) ในกิจกรรมนี้ คือ การฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม โดยใช้ Cloud Technolog  ฝึกทักษะการสืบค้น  การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ สังเคราะห์  การนำเสนอ รวมทั้งทักษะการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของนักศึกษาและบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อสำเร็จเป็นบัณฑิต จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษาทางราชการ ซึ่งหากมีปัญหาในการใช้ภาษาไทย ทั้งทักษะการอ่าน การพูด การเขียน ก็อาจจะทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันการสมัครเข้าทำงาน ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน  ส่วนการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เน้นเตรียมทักษะสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต ที่ต้องมีความคล่องในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเรียนรู้ได้ ปรับตัวได้ตลอดเวลา ที่สำคัญในอนาคต ทุกอาชีพจำเป็นต้องใช้ข้อมูลและสารสนเทศ เราจึงต้องการบัณฑิตที่มีทักษะพื้นฐานในการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ สามารถค้นหา รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้  เป็นผู้สร้างมูลค่าได้จากข้อมูลและสารสนเทศจำนวนมากในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้สารสนเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
   นอกจากนั้น กระบวนการจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ ยังเป็นแนวทางให้ผู้เรียน นำไปใช้ในวิชาชีพครูได้ในอนาคตอีกด้วย

ตัวอย่างการบันทึกผลการเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อกส่วนบุคคลของนักศึกษา

ตัวอย่างการบันทึกผลการเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อกส่วนบุคคลของนักศึกษา และผู้สอน (ที่ปรึกษา) ให้ข้อคิดเห็น

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เว็บบล็อกผลงานนักศึกษารายวิชา WBI ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561

 การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้มากที่สุด สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเขียน การนำเสนอ และปลูกฝังความรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในยุคปัจจุบันนั้น  เว็บบล็อก (Weblog)  เครื่องมือสำหรับสื่อสังคมออนไลน์ นับว่าเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น Google Blogger (https://blogger.com)  การให้ผู้เรียนมีเว็บบล็อก พัฒนา เผยแพร่ และนำเสนอผลงานของตนเอง จะเป็นการสร้างแฟ้มสะสมผลงานของนักศึกษาเองได้อีกด้วย





    จากกรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา Web-based Instruction: WBI ของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชั้นปีที่ 4 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 28 คน ซึ่งจากประสบการณ์การสอนในรายวิชาที่ผ่านมาของนักศึกษากลุ่มนี้ พบปัญหาว่า นักศึกษายังจำเป็นต้องเสริมทักษะการเขียนภาษาไทย การนำเสนอ จึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จึงทดองให้นักศึกษาสร้างเว็บบล็อก นำเสนอรูปแบบและตกแต่งให้สวยงาม เหมาะสม กำหนดงานมอบหมายให้สรุปผลการเรียนรู้ทุกครั้งที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วยการเขียน พร้อมภาพประกอบ และสื่ออื่น ๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ นำเสนอไว้ในเว็บบล็อกของตนเอง และส่งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนการเรียนรู้ของรายวิชาใน Google+

 ชุมชนการเรียนรู้ในรายวิชา WBI


    หลังจากเสร็จสิ้นการจัดการเรียนรู้ในภาคเรียนที่ 1/2561  แล้ว พบว่าผลงานการพัฒนาเว็บบล็อกของนักศึกษาแต่ละคน มีผลการสรุปการเรียนรู้ รวม 12 ครั้ง จากการจัดการเรียนรู้ 16 ครั้ง (ส่วนที่ขาดไปเป็นวันหยุดราชการ) ซึ่งปรากฎผลงานของนักศึกษา ดังนี้ 
  1. นางสาวนูรีดา ยามูสะนอ    https://kalakrungnueng.blogspot.com 
  2. นางสาวฮาซานะห์ มะแซ   https://hasa55.blogspot.com
  3. นายนัสรี แปแนะ  https://crucom004.blogspot.com
  4. นางสาวซาอีด๊ะห์ ตาเยะ  https://405809005saedah.blogspot.com 
  5. นายฟารุก ซิ   https://farukfs.blogspot.com
  6. นางสาวมาณีษา บาสอลอ  http://manisa007.blogspot.com
  7. นางสาวนูรมา ดอมาดา  http://405809009sun.blogspot.com 
  8. นูรอิฮซาน มะแซ  http://405809009sun.blogspot.com
  9. นางสาวอามานี โต๊ะทา  https://anneean.blogspot.com
  10. นางสาวพาตีเมาะ สา  https://wbi405809011.blogspot.com 
  11. นางสาวณัฐติกา เกษตรกาลาม์  https://nuttika12.blogspot.com
  12. นางสาวอัสมานี เฮ็งตา  https://hengta405809014.blogspot.com 
  13. สุไรนีย์ มะเร้ะ  https://portfoliosurainee.blogspot.com
  14. นางสาวฟาอียะห์ โซ๊ะซู   https://fa-e-yah.blogspot.com
  15. นางสาวกูฮูดาห์ รายอลือแมะ  https://kuhuda17.blogspot.com
  16. นางสาวยามีละห์ ยูโซะ  https://yameelah9018.blogspot.com
  17. นางสาวนูรมี มานิ๊   https://ammy58.blogspot.com/
  18. นายมูฮำหมัดฟาอี เจ๊ะโซ๊ะ  http://portfolio405809020.blogspot.com
  19. นางสาวยัสมูน สาและ https://portfolioyasmun.blogspot.co
  20. นายธีรภัทร ปิยะ  https://kru405809022.blogspot.com
  21. มัสลัน โตะ   https://krucomputer023.blogspot.com
  22. นางสาวพุดดือลา เวาะโซะ   https://puddela24.blogspot.com
  23. นางสาวมูนีเราะ สาและ  https://405809025.blogspot.com 
  24. นางสาวนูรูลฟารีซา บินยาโก๊ะ  http://nurulfarisa-b.blogspot.com
  25. นางสาวอัสมีนีย์ หะยียา  https://asmini027.blogspot.com
  26. นายกัรมียะห์ ดาฮา  https://karmeeyah.blogspot.com
  27. นายอารีฟีน มะแอ  https://405809029.blogspot.com
  28. นางสาวซูนิตา เตะโระ  https://ta221900.blogspot.com   



วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การสอนด้วยการลงมือปฏิบัติและบูรณาการความรู้ ทักษะกับการทำงานจริง นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะบา

กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาการสอนผ่านเว็บหรือเว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา (http://sciencey.yru.ac.th/computer)  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th)  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 วันนี้รายวิชาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานหรือ
ปฏิบัติงานด้วยตนเอง โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Instruction: PjBL) และบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาในด้านการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนในพื้นที่นิยมเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญและเลือกเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาสำคัญของโรงเรียนในพื้นที่ คือ ครูวิทยาศาสตร์ ยังขาดทักษะการจัดการเรียนรู้ปฏิบัติการหรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ อาจมาจากสาเหตุที่โรงเรียนขาดแคลนห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และวัสดุการทดลอง และที่สำคัญก็คือ บางโรงเรียนอาจมีครูสอนวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงวุฒิหรือผู้สอนตรงวุฒิแต่ขาดทักษะการสอนการทดลอง ขาดทักษะการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย เนื่องจากหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีล้าสมัย หลักสูตรไม่ได้มุ่งเน้นการฝึกทักษะการทดลองเป็นรายบุคคล หรือครูผู้สอนบางคนสอนมาเป็นระยะเวลานาน ขาดการอบรม ทบทวนในขั้นตอนหรือวิธีการทดลอง หรือขาดประสบการณ์ในการทดลองบางสาระในเนื้อหาวิชา เป็นต้น
   ปัญหาดังกล่าว ผู้สอนและผู้เรียนในรายวิชา WBI  เห็นความสำคัญของปัญหาร่วมกัน และหาแนวทางที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน (นอกเหนือจากวิธีการอบรม) และเผยแพร่ให้แก่ครูและผู้เรียนที่สนใจพัฒนาทักษะการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ คือ การพัฒนาบทเรียนอีเลิร์นนิ่งสอนการทดลองในห้องปฏิบัติการ ด้วยโปรแกรม eXeLearning (http://www.exelearning.org)  ซึ่งเน้นเนื้อหาเป็นข้อความ ภาพนิ่ง และวิดีทัศน์ โดยเน้นการใช้ "วิธีการสอนแบบสาธิตขั้นตอนการทดลอง" ในวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยบูรณาการร่วมกับโรงเรียนในโครงการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  (Science and Mathematics Program: SMP) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอีก 9 โรงเรียน (http://smp-blogspot.com) โดยให้ครูผู้สอนในโรงเรียน SMP เป็นครูผู้สอนหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา นักศึกษาในรายวิชา WBI เป็นผู้พัฒนาบทเรียน นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ SMP เป็นผู้สนับสนุนทีมพัฒนา และมีผู้สอน และคณาจารย์จากสาขาด้านวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นที่ปรึกษาโครงงาน

     สำหรับบทเรียนอีเลิร์นนิ่งต้นแบบในการจัดทำครั้งนี้ กำหนดเนื้อหาการทดลองหรือปฏิบัติการในรายวิชา เคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 4  จำนวน 7 เรื่อง โดยใช้หลักสูตรที่ปรับใช้ร่วมกันของโรงเรียนในเครือข่าย SMP ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ รายวิชาเพิ่มเติม เคมีเล่ม ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ กลุ่มสามารถการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศีกษาธิการ (สสวท.) โดยจัดทำเนื้อหารวม 7 เรื่อง ดังนี้

     1) เครื่องแก้วและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ
     2) การแยกสายการกลั่นธรรมดา
     3) การละลายของสารประกอบไอออนิกในน้ำ
     4) การเกิดปฏิกิริยาของสายประกอบไอโอนิก
     5) การแยกสารด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี
     6) สมบัติคอลลิเกทีฟของสารละลาย
     7) การแยกสายด้วยกรวยแยก

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

ทักษะในศตวรรษที่ 21: การออกแบบและการนำเสนอสื่อจากการเรียนรู้เป็นทีม

การออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือทำ ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (http://www.okmd.or.th/okmd-opportunity/new-gen/262) โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี คือ การมอบหมายงานให้สอดคล้องกับชีวิตและสถานการณ์จริงที่ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะต้องนำไปใช้ในการดำรงชีวิต หรือวิชาชีพของเขา
    พัฒนาการของผู้เรียน เกิดจากการได้ลงมือทำงานร่วมกันเป็นทีม คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์สารสำคัญ และออกแบบ วางแผนในการนำเสนอ ผู้สอนทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ และให้กำลังใจในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน จนสามารถบรรลุและสำเร็จเป้าหมายของการเรียนรู้ได้
    การจัดการเรียนรู้ในรายวิชา WBI ของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) 5 ปี สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตมีวิชาชีพครู ที่เก่งทักษะการสอนในสภาพแวดล้อมบนเว็บ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง  จากผลการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำเสนอผลงาน จากการทำงานร่วมกันเป็นทีม ผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียน: ออนไลน์หรือนอกห้องเรียน ในสัดส่วน 30:70 ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองสูง  ข้อสังเกตคือ การใช้ภาษาไทยทั้งการพูด การนำเสนอ การเขียน (ในเว็บบล็อก) ซึ่งเดิมค่อนข้างเป็นปัญหา เริ่มดีขึ้นตามลำดับ นักศึกษากล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น 
 

 

 

 

 

 

 

 

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บทบาทของอาจารย์ กับการเสริมสร้างบทบาทของผู้นำนักศึกษาในการหนุนเสริมการสร้างสันติสุข

[Download เอกสารประกอบการบรรยาย]
ในสภาพที่สังคมไทยต้องการผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ การบ่อเพาะผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะฝึกฝน เปิดโอกาส จัดสถานการณ์ จัดเวที รวมทั้งโครงการ/กิจกรรมที่หนุนเสริมให้บัณฑิตสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิต เป็นผู้นำที่มีคุณภาพ "คิดดี คิดได้ คิดเป็น" นำพาตนเอง ครอบครัว สังคมรอบข้าง หรือประเทศชาติไปสู่ความสุข เป็นสังคมแห่ง "สันติสุข" ต่อไป
   วันที่ 18 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00-12.00 น. มีโอกาสเป็นวิทยากร ซึ่งได้รับเชิญจากกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย ผศ.วาสนา พิทักษ์ธรรม และทีมงาน เพื่อให้แนวคิดในเรื่อง "บทบาทของผู้นำนักศึกษาในการหนุนเสริมการสร้างสันติสุข" มีผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน




    เนื้อหาสาระสำคัญของการหนุนเสริม ได้แก่ ทบทวนเป้าหมายการเข้ามาเป็นผู้นำนักศึกษา คุณลักษณะของผู้นำที่สังคมต้องการ การฝึกคิดเชิงบวกสร้างสันติสุข และบทบาทของผู้นำในการหนุนเสริมการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ ออกเป็นอยู่ร่วมกับสังคมอย่างเป็นสุข เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป รวมทั้งให้แนวคิดการเป็นผู้นำหนุนเสริมกระบวนการพัฒนาของโลก สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามกรอบ SDGs 17 ด้านตามที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดกรอบเป้าหมายไว้