วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom) ประยุกต์ใช้อีเลิร์นนิ่งและซอฟต์แวร์ประยุกต์บนคลาวน์สอนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์


 ตัวอย่างการปรับการสอนแบบห้องเรียนกลับทิศ (Flipped Classroom)  รายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหา องค์ความรู้ที่จะสอนในชั้นเรียนมาก่อนเข้าชั้นเรียน โดยที่ผู้สอนเตรียมเนื้อหาและแหล่งเรียนนำเสนอผ่านรายวิชาในระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearninng.yru.ac.th/elearning) และผู้เรียนสามารถสืบค้นเนื้อหาสาระเพิ่มเติมผ่านอินเทอร์เน็ตได้  ซึ่งวันนี้ (8 ตุลาคม 2558) เนื้อหาที่สอน บทที่ 3 ระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ เนื้อหาเรื่อง "การพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บ" และ "องค์ประกอบการเรียนการสอนผ่านเว็บ"
     สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้วันนี้ คือ งานมอบหมาย (Assignment) ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งมีรายละเอียดของงานมอบหมาย ได้แก่ คำชี้แจง ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การส่งงาน และเกณฑ์การให้คะแนน (การตรวจให้คะแนนและข้อเสนอแนะ บันทึกในระบบอีเลิร์นนิ่ง) ดังนี้
คำชี้แจง
ให้นักศึกษาเนื้อหาและสาระสำคัญจากเอกสาร หรือจากการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมให้ในรายวิชา เกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาการสอนผ่านเว็บ หรือวงจรการพัฒนาการสอนผ่านเว็บ หลังจากนั้น ให้นักศึกษาปฏิบัติ ดังนี้
  1. สังเคราะห์ (สรุป) ขั้นตอนของการออกแบบและพัฒนาการสอนผ่านเว็บ โดยออกแบบให้เป็น ผังงาน (Flowchart) หรือแผนภูมิ (Chart) พร้อมมีคำอธิบายโดยสังเขป ตามความเข้าใจของนักศึกษา โดยการวาดเป็นแผนภูมิ โดยใช้ซอฟต์แวร์  Cacoo (ติดตั้งบนคลาวน์ ด้วย Google Apps on Chrome)  โดยอาจดูตัวอย่างการวาดแผนภูมิที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างแผนภูมิ ที่ค้นหาให้เป็นแนวทาง
  2. ให้นักศึกษาวาด แผนภาพความคิด (Mind Map) ด้วยซอฟต์แวร์ Cacoo ถึง "องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ" ตามความเข้าใจของนักศึกษาเอง 

การส่งงา
1) ให้นักศึกษาส่งงาน โดยการ แชร์ลิงก์ของเอกสารทั้ง 2 ข้อ เพื่อให้ผู้สอนสามารถตรวจงานได้ ผ่านช่องคำตอบในระบบอีเลิร์นนิ่งในงานมอบหมายนี้
2) เขียนสรุปเนื้อหาโดยย่อ และแผนภาพ MindMap นำเสนอไว้ในเว็บบล็อกของตนเอง และให้ส่งลิงก์เผยแพร่จากเว็บบล็อกตนเองแชร์ใน Google+ กลุ่มของรายวิชา
คะแนน (10 คะแนน)
  1. ส่งงานตรงเวลา (ภายในคาบเรียน 08.00-12.00 น.)
  2. ความสอดคล้องของเนื้อหาที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ 
  3. การวาดแผนภูมิ หรือ Mind Map ที่เหมาะสม
ผลการจัดการเรียนรู้ 

    จากการสังเกตของผู้สอน นักศึกษาทุกคนมีความรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นกับการได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ Cacoo ซึ่งเป็น Chrome App ทำงานบนเทคโนโลยีคลาวน์ (Could Computing) มีความตั้งใจและจริงจังในการสร้างผลงาน สามารถศึกษาและเรียนรู้การสร้างแผนผังความคิดและแผนภูมิจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์เนื้อหาสาระที่ผู้สอนกำหนดให้ รวมทั้งจากการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยใช้ซอฟต์แวร์ Cacoo สร้างผังความคิดและแผนภูมิได้ทุกคน รวมทั้งสามารถแชร์เอกสารผลงานที่ทำได้เผยแพร่ในเว็บบล็อกของผู้เรียนเอง และ แชร์ในชุมชนรายวิชาใน Google+  (ทำงานเสร็จในชั่วโมง 22 คน จากทั้งหมด 36 คน คิดเป็นร้อยละประมาณ 61.11 และที่สำคัญนักศึกษามีกิจกรรมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งห้องเรียน มีความสุขกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้มากกว่าการฟังผู้สอนบรรยายให้ความรู้ (การสอนแบบบรรยาย ตามหลักของ Learning Pyramid ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น) ซึ่งนับเป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ระหว่างห้องเรียนปกติ ชั้นเรียนอีเลิร์นนิ่ง และการใช้ไอซีที โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ Google+, Weblog (www.blogger.com) และเทคโนโลยีคลาวน์ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Services: SaaS) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ "ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี" อีกรูปแบบหนึ่ง และเน้นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากถึงร้อยละ 75 ตามหลักของ Learning Pyramid และสนับสนุนแนวคิด Teach Less Learn more ของ ศ.นพ.วิจารณ์พานิช ที่นำเสนอไว้ในหนังสือ "การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21" เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักงานส่งเสริมสังคมการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คือ สอนน้อยแต่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้มากนั่นเอง



  

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ขอเชิญประชุมวิชาการนานาชาติ ELEARN2015 ครั้งที่ 12

ขอเชิญผู้สนใจส่งผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ The Twelfth International Conference on eLearning for Knowledge-Based Society :ELEARN2015
ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2558  ณ วิทยาลัย Siam Technology College,Thailand  กำหนดส่งบทคัดย่อ 30 ตุลาคม 2558 นี้ สนใจดูรายละเอียดติดตามที่เว็บไซต์  http://www.elearningap.com/

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ห้องเรียนกลับทิศ ผนวกการเรียนการสอนแบบกลุ่ม ผ่านการเรียนรู้แบบผสมผสานแบบอีเลิร์นนิ่งและห้องเรียนปกติ


วิธีสอน (จัดการเรียนรู้) เปลี่ยน ผลลัพธ์เปลี่ยน ผู้สอนเปลี่ยนตัวเองก่อน จึงจะส่งผลถึงผู้เรียน

การทดลองจัดการเรียนรู้ในรายวิชา เว็บช่วยสอน (Web-based Instruction: WBI) ของหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์ศึกษา) หลักสูตร 5 ปี ของสาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ได้ทดลองจัดการเรียนการสอนโดยเน้น Teach Less Learn More, Flipped Classroom, e-Learning, Group-based Learning โดยเน้นลักษณะการการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) เพื่อเสริมทักษะการเรียนในศตวรรษที่ 21 ในทุกๆ ด้านให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นวาระสำคัญการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
     ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่ง ไดเแก่ กิจกรรมการเรียนการสอนโดย การมอบหมายงานกลุ่ม (Group Assignment)  สมาชิกกลุ่มละ 6 คน คละตามความสามารถของผู้เรียน) ไว้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearning.yru.ac.th) ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเนื้อหามาจากบ้าน ส่วนหนึ่งผู้สอนเตรียมเนื้อหาและทรัพยากรการเรียนเรียนไว้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง
รายละเอียดงานมอบหมายในระบบอีเลิร์นนิ่ง
   
รายละเอียดการบ้านที่มอบหมายให้ทำในห้องเรียน
สำหรับ กิจกรรมมอบหมายงานหรือการบ้าน (Assignment) ในระบบอีเลิร์นนิ่ง ผู้สอนอธิบายขอบเขตและขั้นตอนของการปฏิบัติงาน รวมทั้งเกณฑ์การประเมินผลไว้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง ส่งข่าวสารให้ผู้เรียนรับรู้รับทราบก่อนเข้าชั้นเรียนผ่านชุมชนการเรียนรู้ Google+ และอีเมล และให้แต่ละกลุ่มมาทำกิจกรรมในชั้นเรียน เน้นการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือ โดยผู้สอนอธิบายและให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในขณะทำกิจกรรม เมื่อทำกิจกรรมเสร็จ
    เมื่อผู้เรียนแต่ละกลุ่มทำกิจกรรมการบ้านเสร็จเรียบร้อย ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอหน้าชั้นเรียน กลุ่มละ 15 นาที โดยทุกคนในกลุ่มตั้งมีส่วนร่วม (ฝึกฝนทักษะการนำเสนอและการใช้ภาษาไทย) ผลงานสไลด์นำเสนอให้เผยแพร่ผ่านกลุ่ม https://plus.google.com/u/0/communities/113770790066290262562 และเขียนในเว็บบล็อกของสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนตามความสนใจ
    ข้อสังเกตเบื้องต้นจากการจัดการเรียนรู้ตามสถานการณ์ข้างต้น (17 กันยายน 2558) สังเกตเห็นพฤติกรรมของผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้นมาก มีรอยยิ้มและมีความสุขตลอดเวลาในขณะทำกิจกรรม เกิดความสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างสมาชิกในกลุ่มมากขึ้น จากการคละกลุ่มที่มีสมาชิกจากผู้เรียนทุกระดับความสามารถ ต่างจากการให้ผู้เรียนเลือกกลุ่มอิสระ ผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะนี้  จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป

[ติดตามดูผลงานของกลุ่มจากการทำกิจกรรมในชั้นเรียน...https://plus.google.com/u/0/communities/113770790066290262562



วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการใช้อีเลิร์นนิ่งและ Google App ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21

    การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค โดยคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (มรย.) ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้จัดขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2558 การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ร่วมกับการจัดงาน "มรย.วิชาการ 58 คลังปัญญาชายแดนใต้สู่สากล" ซึ่งจัดงานระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา 
             คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนให้สนใจศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตลอดมากว่า 19 ปี ซึ่งมีกิจกรรมจัดนิทรรศการวิชาการของหลักสูตร กิจกรรมประกวดแข่งขันด้านวิชาการ โครงงาน กิจกรรมสาธิตและแสดง Science Show ซึ่งได้รับความสนใจจากโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่ด้วยดีตลอดมา แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้และมีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 19 ปี คือ การจัดทำวารสารวิชาการเนื่องในวาระพิเศษ คือ "วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวิทยาลัยราชภัฏยะลา" เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิชาการของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยฯ มีโครงการพัฒนาวารสารฉบับดังกล่าวให้เป็นวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นไปเกณฑ์มาตรฐานของ TCI  โดยจะเริ่มเผยแพร่ฉบับแรกในกลางปี พ.ศ. 2559 จึงเชิญชวนนักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ส่งผลงานต้นฉบับร่วมตีพิมพ์ได้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ  คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
          สำหรับในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในภูมิภาคปีนี้  ผู้เขียนได้นำเสนอบทความวิชาการ (Article Review) ที่ได้จากประสบการณ์จริงในการจัดการเรียนรู้ยุคศตวรรษที่ 21 เรื่อง อีเลิร์นนิ่งและ Google App: แนวทางการจัดการเรียนรู้เสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียนด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจการจัดการเรียนรู้หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาในยุคศตวรรษที่ 21 โดยใช้ไอซีทีเป็นฐาน หรืออ่านเพิ่มเติมที่ลิงก์ http://ict-bl.blogspot.com/p/blog-page_5985.html 

    วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

    ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที มรย.จัดอบรมพัฒนาทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21

    ดูภาพประกอบเพิ่มเติม...
    ในงาน มรย.วิชาการ 58 ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2558 (http://www.yru.ac.th/academic58) ในงานนี้ ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที (http://elearning.yru.ac.th/center) จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยไอซีทีในศตวรรษที่ 21 โดยในวันแรก วันที่ 17 สิงหาคม 2558 ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เป็นวิทยากรให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การใช้ไอซีทีประยุกต์ใช้จัดการเรียนรู้ โดยเน้นการประยุกต์ใช้กับเทคนิคการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) ผู้เข้าอบรมได้แก่ คณาจารย์จาก มรย. ครูผู้สอนจากโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ. 5 ปี) สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป จำนวนกว่า 80 คน [เอกสารประกอบการบรรยาย...]
       สำหรับในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 เป็นการแบ่งกลุ่มลงมือปฏิบัติโดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ  1) การใช้ Google App for Education จัดการเรียนรู้  2) Multimedia กับการพัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน  [Download สไลด์ประกอบการบรรยาย]

    วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

    ผู้สอนยุคใหม่ในระบบ YRU e-Learning : การพัฒนาผู้สอนส่งเสริมการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21

    การจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอน (ผู้จัดการเรียนรู้) จะต้องปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปวิธีการจัดการเรียนรู้ กล่าวได้ว่าต้องเรียนรู้และออกแบบสถานการณ์เพื่อจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สำหรับบัณฑิตในยุคนี้ นอกเหนือจากการสอนเนื้อหาสาระในวิชา โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศ และเทคโนโลยี ดังน้ัน ผู้สอนเองจะต้อง
    บูรณาการทักษะเหล่านี้ ในทุกๆ รายวิชา กล่าวคือ ต้องสอนทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้พร้อมก่อนออกไปทำงาน หรือสอนให้มีทักษะในการทำงานเป็นตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย
       ระบบจัดการการเรียนรู้อีเลิร์นนิ่ง (YRU e-Learning) เป็นเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการเรียนรู้ จึงกำหนดและส่งเสริมให้คณาจารย์ได้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้  ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 กำหนดค่าเป้าหมายให้อาจารย์ร้อยละ 50 ต้องมีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง และกำหนดค่าเป้าหมายในระยะ 3 ปี ข้างหน้าผู้สอนต้องมีการจัดการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งร้อยละ 80 และมีค่าเป้าหมายในการติดตามผลการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งการสอบวัดทักษะ ICT Skill (ICT Skill Exit-Exam) บัณฑิตก่อนสำเร็จการศึกษา ก่อนออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์บัณฑิต "เก่งไอที" ของบัณฑิตให้เด่นชัดยิ่งขึ้นต่อไป

    กิจกรรมอบรมปฏิบัติการอีเลิร์นนิ่งขั้นพื้นฐาน อาจารย์ใหม่  มรย. วันที่ 10-11 สิงหาคม 2558

    อ่านข้อมูลเพิ่มเติม:

    วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

    ขอเชิญร่วมประชุมปฏิบัติการการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

           ขอเชิญครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ผู้สนใจด้านการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ไอซีทีเป็นฐาน สมัครเข้าร่วม "การสัมมนาและอบรมปฏิบัติการการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 " โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข จากภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2558 ณ อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  
        ท่านสามารถลงทะเบียนออนไลน์และชำระเงินค่าลงทะเบียนท่านละ 600 บาท (รับจำนวนจำกัด 120 ท่าน สงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ชำระเงินล่วงหน้า) ได้โดยการแสกน QR Code ดังภาพ หรือลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์  http://gg.gg/yru-ite58  ท่านได้จะไดรับสิทธิ์เป็นสมาชิกเครือข่าย "ครูไทยชายแดนใต้หัวใจไอซีที" รับสิทธิ์บริการให้คำปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการทำวิจัยพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน วิจัยโดยใช้ไอซีทีเป็นฐาน การวิจัยระดับปริญญาโท/เอกด้านไอซีทีเพื่อการศึกษา นวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นต้น
        นอกจากนั้นยังจะได้รับเอกสารประกอบการอบรม เกียรติบัตรผ่านการอบรม (กรณีผ่านเกณฑ์ที่กำหนด)  และบริการอื่นๆ จาก "ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยไอซีที" งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ เช่น การเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ ในอนาคต รวมทั้งการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
    เว็บไซต์ลงทะเบียน http://gg.gg/yru-ite58
        นอกจากนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว วันที่ 17-21 สิงหาคม 2558 ยังเป็นช่วงของการจัดงาน "มรย.วิชาการ คลังปัญญาชายแดนใต้สู่สากล"  ซึ่งจะมีกิจกรรมด้านวิชาการและกิจกรรมนักศึกษาของทุกหลักสูตร นิทรรศการวิชาการและการบริการของทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยฯ รายละเอียดดังเว็บไซต์   http://www.yru.ac.th/academic58 
    http://www.yru.ac.th/academic58

    วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

    กิจกรรมประเมินจิตพิสัยในระบบอีเลิร์นนิ่ง: จิตอาสา สู้งาน

        มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำหนดอัตลักษณ์บัณฑิตไว้ คือ "เก่งไอที มีจิตอาสา สู้งาน สื่อสารภาษามลายูกลางได้"  การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างจิตอาสาและการสู้งานให้แก่บัณฑิตในห้องเรียนออนไลน์ ในรูปแบบ "ชั้นเรียนอีเลิร์นนิ่ง" อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือในระบบอีเลิร์นนิ่ง ซึ่ง LMS ส่วนใหญ่มีเครื่องมือประเภทบันทึกกิจกรรม การแสดงความเห็นผ่านกระดานเสวนา (Forum) เตรียมให้ผู้สอนนำมาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอน ซึ่งทุกวันนี้มักเรียกว่า "การจัดการเรียนรู้"

    ตัวอย่างการออกแบบกิจกรรมบันทึกความดี โดยใช้กระดานเสวนา (Forum) ในระบบอีเลิร์นนิ่งที่จัดการด้วย Moodle LMS

    ตัวอย่างการบันทึกความดีและการให้คะแนนจากผู้สอนและเพื่อนในชั้นเรียน

      ดังนั้น จึงทดลองออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมพฤติกรรม "จิตอาสา สู้งาน" ของนักศึกษาในรายวิชา ระบบสารสนเทศทางการศึกษา นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี) โดยกำหนดกิจกรรมบันทึกความดีของนักศึกษาที่ได้ประพฤติในระหว่างภาคเรียน โดยให้แต่ละคนบันทึกความดีที่เน้น "จิตอาสาและสู้งาน" อย่างน้อยคนละ 10 ครั้ง โดยให้นักศึกษาเขียนบรรยายถึงพฤติกรรมที่ได้กระทำ  อาจารย์ผู้สอนและเพื่อนๆ ในชั้นเรียนประเมินระดับคะแนน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินคะแนนจิตพิสัยและใช้ประกอบการประเมินระดับผลการเรียนของรายวิชาด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยพัฒนาการเรียนรู้ รายวิชา ระบบสารสนเทศทางการศึกษาในระบบอีเลิร์นนิ่ง โดยจะได้รายงานผลการวิจัยพัฒนาการเรียนรู้และจิตพิสัยนี้ในโอกาสต่อไป



    วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

    ความสำคัญและแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อการเสริมสร้างความเป็นครูตามกรอบ มาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานคุรุสภา

    สไลด์ประกอบการบรรยาย
    วันที่ 25 เมษายน 2558 เวลา 09.00-11.30 น. ได้รับเกียรติจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรร่วมกับ ดร.นิมารูนี หะยีวาเงาะ หัวหน้างานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรย.  ร่วมบรรยาย เรื่อง "ความสำคัญและแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเสริมสร้างความเป็นครูตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานคุรุสภา" ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวนกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวชิราลงกรณ 50 ปี
         การบรรยายดังกล่าวเน้นให้นักศึกษาครู (ค.บ. 5 ปี) ชั้นปีที่ 4 มีความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของไอซีทีในการประกอบวิชาชีพ เช่น การนำไอซีทีไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ การนำไอซีทีไปใช้ประกอบการทำงาน การสื่อสารและการเผยแพร่สารสนเทศ เป็นต้น โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของครูที่ต้องเป็นต้นแบบให้แก่ศิษย์ในด้านความกระหายใคร่เรียนรู้ การใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในทางที่เหมาะสม ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะต้องออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในปี 2558 เป็นเวลา 1 ปี ตามข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภาพ และนักศึกษากลุ่มนี้ก็จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูพันธุ์ใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นส่วนใหญ่ นับเป็นความหวังของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการผลิตครู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในพื้นที่ ให้เป็นครูที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเก่งด้านวิชาการตามสาขาวิชาเอก มีความรู้และทักษะด้านไอซีที ที่สำคัญมีเจตคติรักวิชาชีพครู รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรม คิดเชิงบวก เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูผู้สอนที่มีคุณภาพแล้ว จะได้กลับไปสอนและผลิตนักเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาให้มีคุณภาพ สร้างเจตคติและแนวคิดเชิงบวกในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ด้วยการอาศัย "การศึกษา" และ "คุณภาพการศึกษา" เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนในพื้นที่
        ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) การผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและดำเนินการอย่างเป็นระบบในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะต้องสร้างบุคลิกและคุณภาพของครูตามข้อบังคับวิชาชีพของคุรุสภาแล้ว มหาวิทยาลัยฯ ยังต้องเน้นการพัฒนาทักษะ จิตพิสัย และความรู้อื่นๆ ที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์และความต้องการครูในพื้นที่ จึงนับเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงจะได้เห็นผล (ลูกศิษย์ของครูเหล่านี้) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
        ขอบคุณคณาจารย์และนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ (ค.บ. 5 ปี) ทุกท่าน ที่ร่วมกันดำเนินงานกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้