วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญและแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อการเสริมสร้างความเป็นครูตามกรอบ มาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานคุรุสภา

สไลด์ประกอบการบรรยาย
วันที่ 25 เมษายน 2558 เวลา 09.00-11.30 น. ได้รับเกียรติจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรร่วมกับ ดร.นิมารูนี หะยีวาเงาะ หัวหน้างานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรย.  ร่วมบรรยาย เรื่อง "ความสำคัญและแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเสริมสร้างความเป็นครูตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานคุรุสภา" ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวนกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวชิราลงกรณ 50 ปี
     การบรรยายดังกล่าวเน้นให้นักศึกษาครู (ค.บ. 5 ปี) ชั้นปีที่ 4 มีความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของไอซีทีในการประกอบวิชาชีพ เช่น การนำไอซีทีไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ การนำไอซีทีไปใช้ประกอบการทำงาน การสื่อสารและการเผยแพร่สารสนเทศ เป็นต้น โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของครูที่ต้องเป็นต้นแบบให้แก่ศิษย์ในด้านความกระหายใคร่เรียนรู้ การใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในทางที่เหมาะสม ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะต้องออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในปี 2558 เป็นเวลา 1 ปี ตามข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภาพ และนักศึกษากลุ่มนี้ก็จะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูพันธุ์ใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นส่วนใหญ่ นับเป็นความหวังของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการผลิตครู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในพื้นที่ ให้เป็นครูที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเก่งด้านวิชาการตามสาขาวิชาเอก มีความรู้และทักษะด้านไอซีที ที่สำคัญมีเจตคติรักวิชาชีพครู รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรม คิดเชิงบวก เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูผู้สอนที่มีคุณภาพแล้ว จะได้กลับไปสอนและผลิตนักเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาให้มีคุณภาพ สร้างเจตคติและแนวคิดเชิงบวกในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ด้วยการอาศัย "การศึกษา" และ "คุณภาพการศึกษา" เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนในพื้นที่
    ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) การผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและดำเนินการอย่างเป็นระบบในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะต้องสร้างบุคลิกและคุณภาพของครูตามข้อบังคับวิชาชีพของคุรุสภาแล้ว มหาวิทยาลัยฯ ยังต้องเน้นการพัฒนาทักษะ จิตพิสัย และความรู้อื่นๆ ที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์และความต้องการครูในพื้นที่ จึงนับเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงจะได้เห็นผล (ลูกศิษย์ของครูเหล่านี้) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
    ขอบคุณคณาจารย์และนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ (ค.บ. 5 ปี) ทุกท่าน ที่ร่วมกันดำเนินงานกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้